Pineapple TH-PH

Done

Sunday, May 15, 2011

ช่างตัดผมคนหนึ่งที่เก่งมาก เขายืดอกบอกผมว่า ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากจะตัดผมให้ตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเขาศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองทำ และเชื่อมั่นว่าตัวเองนี่แหละทำให้ตัวเองได้ดีที่สุด


ความที่ผมเขียนคอลัมน์เรื่องเงินๆ ทองๆ ในหนังสือพิมพ์ต่างฉบับ ผมจึงมีโอกาสชวนเพื่อนนักอ่านฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่ายหลายต่อหลายครั้ง


   เชื่อเองว่าเราไม่ได้ขอมากไป และของพรรค์นี้ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรงครับ ถ้าใครตั้งใจทำแบบไม่หลอกตัวเอง อานิสงส์จะส่งให้เรามีวินัยการเงินอย่างถึงที่สุด


   ในเรื่องเดียวกัน ผมยังสบช่องไล่ถามเพื่อนที่เป็นนักบัญชี แล้วก็ต้องตกใจเพราะแม้พวกเขาจะขลุกกับตัวเลขมานาน ดูงบการเงินมาก็เยอะ แต่ถึงวันนี้ไม่มีสักกะคนศรัทธาที่จะทำบัญชีให้ตัวเองเลย


   คำถามคล้ายๆ กัน ผมลามไปถึงเพื่อนที่ทำมาร์เกตติ้ง ก็ไม่ยักมีใครที่คิดเอาวิชาชีพนี้มาใช้ดำเนินชีวิต ปั้นแบรนด์ �ตัวเอง� ให้โดดเด่น


   แล้วผมก็สนุก ไล่ถามเพื่อนที่มีทุกวงการ สุดท้ายก็เป็นดังคิด มีนับคนได้ที่ซีเรียสจริงจัง เอาอาชีพที่ทำมาช่วยพัฒนา และปรับใช้กับตัวเองให้ดีขึ้น


   ผมพยายามตั้งคำถามว่า เรื่องแบบนี้อะไรน่าจะเป็นสาเหตุ? ไฉนเราๆ ท่านๆ จึงมักไม่เชื่อมโยงความรู้ความสามารถใน �งาน� เข้ากับเรื่อง �ส่วนตัว� ทั้งที่ก็น่าจะผสมได้อย่างกลมกลืน


   แต่ก่อนที่จะกลับมาคุยกัน หลายคนเริ่มฉงน เพราะเรื่องนี้ดูไร้สาระเกินกว่าที่ผมจะยกขึ้นเป็นประเด็น


   เฉลยก็ได้ว่า จริตผมเป็นคนช่างคิด แถมผมก็มีศรัทธาแรงกล้า เชื่อว่า �คำถาม� �สมมุติฐาน� และ �ข้อสงสัย� สามสิ่งนี้ถ้ามีติดตัวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนถึงขั้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้


 จำได้ดีว่าในสัมมนาครั้งหนึ่ง ผู้สอนก็เคยเอาวิธีคิดของ Edward De Bono มาเล่า ชี้ให้เห็นว่าคนทั่วไปมักคิดถึง �ม่าน� เฉพาะแค่ที่อยู่ในบ้านเท่านั้น


 ต่อเมื่อมีคนๆ หนึ่ง คิดนอกกรอบ กล้าตั้งคำถาม เพื่อให้ม่านสามารถอยู่นอกบ้านได้ ที่สุด �Motel� จึงเกิดขึ้น เป็นแนวคิดเอาม่านออกไปนอกรั้ว เวลาขับรถพาอีหนูเข้าจะได้ปิดไว้กันอาย


   ฉะนั้น อย่ากลัวที่จะถาม อย่าอายถ้าจะสงสัย แม้เป็นเรื่องขี้ประติ๋ว เพราะความคิดเล็กๆ นี่แหละก็สร้างโลกได้
   ที่สำคัญ ถ้าคุณยิ่งอยาก ก็ยิ่งรู้ เมื่อยิ่งรู้ ก็ยิ่งเก่งครับ


   กลับมาสู่เรื่องเดิม หลังจากที่ครุ่นคิดมานาน ผมก็เริ่มอนุมาน และเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะมีสามสมมุติฐานใหญ่ๆ
 อย่าง แรก คนส่วนใหญ่มักแยกสองเรื่องออกจากกัน และพยายามวิ่งหนีคำว่า �งาน� ให้ไกลที่สุด ยิ่งไกลได้เท่าไหร่ ก็เชื่อว่ามีความสุขมากเท่านั้น


   เพราะการทำงานทุกวันก็เหนื่อยพอตัวแล้ว หากเอามาปนกันก็ยิ่งไปกันใหญ่ โลกส่วนตัวก็คือส่วนตัว โลกของงานก็คืองาน ใครเอามาเกี่ยวกัน ไม่บ้าก็น่าสงสารครับ


   ถูกครับ ผมไม่เคยแนะนำให้เวลากลับบ้าน แบกงานไปด้วย จนลืมครอบครัว หรือขณะที่ทำงาน ก็คิดถึงเรื่องที่บ้าน จนทำงานไม่เวิร์ค ปะปนกันไปหมด


   แต่ทฤษฏีสัมพันธภาพก็สอนผมบางอย่าง สิ่งที่อัศจรรย์ที่ผมค้นพบก็คือ บางครั้งเรื่องงานกับส่วนตัวก็เชื่อมโยงกันได้ ถ้ารู้จักใช้ และทำให้เป็น


  บ่อยครั้งที่ผมสะดุดคิดงานเท่าไหร่ก็ไม่ออก จู่ๆ บางประโยคเล็กๆ บนโต๊ะอาหารจากคุณแม่ของผมที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย ก็จุดประกายให้ผมเอาไปประยุกต์ใช้ในออฟฟิศได้


   ทำนองกลับกัน สิ่งที่ซีอีโอหรือเจ้านายสอนผมในออฟฟิศ ผมเองก็คิดเสมอ และพยายามเอามาปรับกับนิสัยส่วนตัว จนขยายขอบเขตถึงการเอาไปใช้จัดการปัญหาของที่บ้านได้ด้วย


   คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะสร้างการเชื่อมโยงให้เป็น


   เพราะแม้ �ศาสตร์� และ �ศิลป์� จะเป็นของตรงข้าม เหมือน �หยิน� กับ �หยาง� แต่หากเชื่อมโยงกันได้ ทุกอย่างก็กลมกลืนได้สวยงาม


   ประการต่อมา เหตุที่คนเรามักไม่เอาเรื่องงานมาใช้กับตัว เพราะหลงคิดว่า �งาน� คือหน้าที่ที่ต้องเอาความรู้ที่เรียนและประสบการณ์มาใช้ เพื่อแลกกับเงินเดือน แต่การพัฒนา �ตัวเอง� ไม่มีใครบังคับ และไม่ใช่หน้าที่ของเรา 


 อีกนัยหนึ่ง เวลาองค์กรตั้งโจทย์พัฒนาบุคคลขึ้นมา เราก็มักนึกถึงหลักสูตรภายนอกก่อน แถมยังมองหาวิทยากรเก่งๆ ค่าตัวแพงๆ มาเป็นแขกรับเชิญ ทั้งที่ �ราคาสูง� ก็ไม่เท่ากับ �คุณภาพดี� ในทุกครั้ง


   พูดง่ายๆ คือ เรามองหา ผู้ให้ และวางตัวเองเป็นผู้รับ ทั้งที่ เราสามารถเป็นผู้ให้และผู้รับในตัวคนเดียว


   อุปมาง่ายๆ ครับ เวลาลูกหลานทำผิด เราก็มักจะโทษครูก่อน ทั้งที่ความจริงหน้าที่ในการสอนและอบรมจริยธรรมเริ่มต้นที่พ่อแม่ พี่น้อง คนในครอบครัวที่แวดล้อมก่อน


  ฉะนั้น กลับมามองที่ตัวเองครับ เรามีหน้าที่เชื่อมโยงและพัฒนาตัวเองก่อนที่จะให้องค์กรหยิบยื่นให้ สุดท้าย ผมเชื่อว่าบางคนยังมีความคิดแบบ �Take for granted� อยู่   ผมไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่ายังไงดี แต่อุปมาก็คล้ายกับการละเลยหรือมองข้ามความสำคัญของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว


   อย่างพ่อแม่หรือคนที่เรารัก ที่เรามักไม่ค่อยสัมผัสถึงความดีที่เขาทำให้ ใจกลับคิดว่าเป็นของตาย ต่อเมื่อเกิดเหตุที่ใครสักคนต้องลาจากโลกไป ก็มานึกนั่งเสียใจในภายหลัง


  ถ้าเป็นไปได้ ผมไม่อยากให้มองข้ามจุดนี้ครับ


   ถ้าเราไม่รักตัวเอง ไม่เชื่อในความสามารถตัวเอง  และไม่พยายามทำเพื่อตัวเอง แล้วเราจะไปเรียกร้องจากใคร
   ผมเคยคุยกับช่างตัดผมคนหนึ่งที่เก่งมาก เขายืดอกบอกผมว่า ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากจะตัดผมให้ตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเขาศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองทำ และเชื่อมั่นว่าตัวเองนี่แหละทำให้ตัวเองได้ดีที่สุด


  ก่อนเขียนเรื่องนี้จบ ผมโทรไปหาเพื่อนคนหนึ่งที่เป็น Script Writer และก็ได้คำตอบอย่างเดียวกันว่าเขียนบทรายการมาก็เยอะ ไม่เคยเขียนสคริปต์ให้ตัวเองเลย


   จนผมแซวติดตลกว่า น่าจะลองทำดูนะ จะได้ดีไซน์ชีวิตให้มีฉากจบแบบ �Happy Ending� ครับ

วาทะ--คนสำคัญ เราต้องสร้างให้มีใจพร้อม เมื่อธุรกิจเติบโตถึงระดับหนึ่ง การจะไปให้ถึงความมั่นคงยั่งยืนได้ เราต้องสร้างใจขององค์กรขึ้นมา - กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร