ดารบุษป์ ปภาพจน์ : darabusp@primavest.com
ในช่วงที่แวดวงการลงทุนกำลังกลุ้มอกกลุ้มใจกับความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก หลายท่านอาจลืมสังเกตข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งในหน้าข่าวต่างประเทศ ที่กล่าวถึงการสูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก นั่นคือ เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ กลุ่มแรกของโลก ในปี 1953 ร่วมกับเทนซิง นอร์เกย์ ชาวเนปาล เมื่อเช้ามืดของวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะมีอายุได้ 88 ปี
สิ่งที่ท่านเซอร์ ฝากไว้มิใช่เพียงรอยเท้ารอยแรกบนยอดเขาเอเวอร์เรสต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ตลอดชีวิตของท่าน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวเนปาลที่ยากไร้ ข่าวนี้ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความชิ้นหนึ่ง ที่กล่าวเปรียบเทียบ "การลงทุน และการปีนเขา" ไว้อย่างน่าสนใจ บทความชิ้นนี้เขียนโดย Jeff Howard, CFP ที่ปรึกษาการลงทุนอิสระ ซึ่งขอถอดความมาบางส่วนให้เหมาะสมกับเนื้อที่ดังนี้ค่ะ
1) จงเริ่มต้นอย่างมี "เป้าหมาย" เสมอ
ไม่มีใครตัดสินใจที่จะปีนเขาขนาดใหญ่ โดยเดินไปอย่างไร้จุดหมาย ปกติแล้วก่อนที่จะปีนเขาลูกใดนั้น ผู้ปีนต้องวางแผนและเตรียมพร้อมที่จะรับอุปสรรค และความลำบากใดๆ ที่จะเกิดขึ้น (ลองนึกย้อนถึงตอนปีนภูกระดึง สมัยวัยรุ่นดูก็ได้ค่ะ) เริ่มตั้งแต่ต้องปีนเขาลูกไหน ต้องใช้เส้นทางใด ต้องเตรียมอาหารไปมากแค่ไหน ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ซึ่งการลงทุนก็ไม่แตกต่างกันค่ะ คือเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายระยะยาว และสร้างพอร์ตการลงทุนเพื่อให้ตนเองถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ การเก็บเงินโดยไม่มีระยะเวลา ไม่มีเป้าหมายจะทำให้เราหมดกำลังใจเลิกเก็บเงินก่อนที่จะไปถึงไหน เป้าหมายของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจต้องการยืนบนยอดเขา แต่บางคนขอเพียงสูงแค่ชะง่อนผาแรกก็เพียงพอกับความต้องการแล้ว
2) มีความ "ยืดหยุ่น"
ในการไต่เขานั้น ผู้ปีนควรมีความยืดหยุ่นกับเป้าหมาย และเส้นทาง รวมถึงด้านจิตใจด้วย สภาพอากาศ หิมะ เส้นทางที่เป็นไปได้ ความพร้อมของร่างกาย ฯลฯ ล้วนมีผลต่อสิ่งที่เราจะทำได้ หรือทำไม่ได้ระหว่างเส้นทางทั้งสิ้น ซึ่งก็คือ "ความไม่แน่นอน" นั่นเอง การลงทุนเป็นเกมของความน่าจะเป็น ซึ่งมาพร้อมกับความไม่แน่นอน ดังนั้น อย่ากลัวที่จะปรับเป้าหมาย เส้นทาง หรือการลงทุนที่จะทำให้ถึงเป้าหมาย หากเงื่อนไขเปลี่ยนไปด้วยเหตุส่วนตัว หรือสภาวะตลาดก็ตาม
3) การถึง "เป้าหมาย" มิอาจเป็นไปได้หากปราศจาก "ความเสี่ยง"
ภูเขาขนาดใหญ่มีความเสี่ยงอยู่รอบตัว บ้างก็เป็นความเสี่ยงเล็กน้อย (เช่น ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือความเสี่ยงที่มากอย่างการตกเขา เป็นต้น - ผู้เขียน) ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายทั้งสิ้น โดยหากเราเลือกเส้นทางที่เสี่ยงมาก ก็ต้องใช้วิธีปีนหน้าผาสูงชัน แต่ถ้าเลือกเส้นทางที่เสี่ยงน้อย ก็ต้องเสียเวลามากมายกว่าจะถึงเป้าหมาย
ดังนั้น จึงควรหาเส้นทาง พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม สำหรับการลงทุนแล้ว "ความเสี่ยง เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น ควรที่จะหลีกเลี่ยง" หากพบว่าทางข้างหน้าน่ากลัวเกินไป จงถอยหลังกลับ และหาเส้นทางใหม่ ในที่นี้ความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองกระทำมีความสำคัญมากกว่าความเร็ว กระบวนการตัดสินใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
4) หนทางผ่านมีทั้ง "ขาขึ้น" และ "ขาลง"
การปีนเขาที่ระดับความสูงมากๆ นั้น เต็มไปด้วยการ "ปีนขึ้น" และ "ไต่ลง" เป็นจำนวนมากกว่าจะถึงจุดหมาย เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาวะอากาศที่มีออกซิเจนในระดับต่ำ บางครั้งต้องเป็นอย่างนี้เป็นวันๆ (หรือเป็นอาทิตย์สำหรับเอเวอร์เรสต์) นับเป็นเรื่องที่สาหัสสำหรับจิตใจเป็นอย่างมาก และต้องการวินัยทางใจบวกกับความอดทนอย่างยิ่ง ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรกับการลงทุน อย่ายอมให้ความผันผวนของตลาดมาเบี่ยงเบนคุณไปจากเป้าหมาย ความอดทนและความยึดมั่นกับกระบวนการตัดสินใจลงทุนเท่านั้นที่จะนำคุณไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในที่สุดค่ะ