หลังจากเรารับรู้ถึงความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการวัยรุ่นยุโรป ที่หมายความถึงการ "ลด ละ เลิก พึ่งพา" จากอเมริกา จนถึงความหลุดโลกของนักธุรกิจคลื่นใหม่ของอเมริกาที่ทำให้กิจกรรมบนถนนเป็นธุรกิจขึ้นมาได้
ทุกครั้งที่อ่านข้อมูลของต่างประเทศ มักนึกถึงคนไทยที่จะนำมาเป็นกรณีศึกษาเสมอ ในที่สุดการค้นหาสิ้นสุดลง หลังจากได้ติดต่อพูดคุย โดยมีตัวตั้งไว้ว่า ผู้เป็นกรณีศึกษานั้น จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นพลังสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว มีความสามารถในการเปล่งแสงของตัวเอง ตลอดจนเป็นตัวแทนแห่งความเปลี่ยนแปลง
กรณีศึกษาคนไทยนี้ เป็นคน 2 รุ่น คือ รุ่นใหญ่วัยขึ้นต้นด้วยเลข 4 ที่ชีวิตเขาคงไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นที่เลข 4 แน่นอน เพราะชีวิตเขาเริ่มต้นฝ่าฟันมาตั้งแต่มีอณูชีวิตขึ้นมาก็ว่าได้
ส่วนรุ่นเล็กเป็นกลุ่มเด็กหนุ่มวัยเลขขึ้นต้นด้วยเลข 2 พวกเขามากันเป็นทีม พร้อมความหวังยิ่งใหญ่ที่น่าสนใจ และพวกเขาทำได้!!!
งั้นมารู้จักกับกรณีศึกษารุ่นใหญ่กันก่อน ไม่น่าเชื่อว่า หนึ่งในกรณีศึกษาจะวางโพสิชั่นตัวเองไว้ที่ระบบราชการ เขาเป็นอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนก้าวข้ามแดนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เขาคือ รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ผู้ได้รับฉายา กัมบาริยะ หรือเจ้านักสู้ (Gambariya) มาจากอาจารย์ชาวญี่ปุ่น
เพราะอะไรน่ะหรือ! นั่นสิ น่าค้นหา เรื่องราวของเขา ช่างปลุกเร้าจิตใจและได้อารมณ์ เป็นอัศจรรย์ของชีวิตที่สามารถสร้างบทหนังเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
....ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต 10 ปี ที่ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2527-2537) ด้วยการ "เรียนแบบพลีชีพ" และความเร็ว (ในการใช้ชีวิต) ที่ต้องเร็วกว่าคนญี่ปุ่น
ด.ช.สมชาย เกิดที่จังหวัดระยอง ก่อนจะมีชีวิตพลิกผันมี "เจ้าโอกาส" มาวิ่งชน
เขาเปิดเผยว่า เป็นโอกาสเพียง "ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต" โดยได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (ทุน Monbusho) เป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ในการเรียนที่ Junior college of Tokyo University of agriculture และเมื่อทุนกำลังจะหมดลง ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ทุนเรียนระดับปริญญาตรีต่อให้ได้ และในที่สุดเขาก็ได้พบกับ อาจารย์นิชิกาวะ ผู้ละทิ้งทรัพย์สินทั้งหมด แล้วนำมาเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจนๆ (Nishigawa Chikusan Foundation) คนที่ ดร.สมชาย เรียกเขาว่า พ่อ และคนคนนี้เองส่งผลให้ รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ในวันนี้ เป็นดังตัวแทนของบุคคลผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น ในโอกาสครบความสัมพันธ์ 120 ปีไทย-ญี่ปุ่น
หลังจากได้รับทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรี เขายังสามารถพิชิตรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ซึ่งถือเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ หลังจากนั้นยังได้ทุนเรียนทั้งโทและเอก ต่ออีก จาก Tokyo University of agriculture
เมื่อเรียนจบปริญญาเอก ดร.สมชาย ปฏิเสธงานค่าตอบแทนสูงลิ่วที่ญี่ปุ่น เพราะตั้งใจกลับมาเป็นครู เพราะเขาเชื่อว่าประเทศที่ดี ต้องมีครูที่ทุ่มเท สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ญี่ปุ่นปลูกฝังโดยการปฏิบัติให้ลูกศิษย์เห็น
วันนี้เขาจึงมุ่งมั่นสร้างคน สร้างดอกเตอร์ผ่านสายสัมพันธ์อันดีไทย-ญี่ปุ่น จนบัดนี้มีดอกเตอร์ที่กำลังจะจบจากญี่ปุ่น ทยอยกันกลับมารับใช้ประเทศผ่านการประสานงานของเขา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการส่งนักศึกษาไปดูงาน
เขาไม่ย่อท้อในการทำความดี และไม่รีรอการข้ามเขตแดนอย่างเท่ กับอาจารย์สอนเทคโนโลยีการเกษตรสู่ ผู้บริหารสถาบันเอเชียตะวันออกฯ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัย และเดินหน้าประสานงานกับหน่วยงานภายนอกโดยลบเส้นแบ่งว่า "งานราชการ ต้องทำตัวแบบราชการ"
ตอนนี้ กัมบาริยะ เจ้านักสู้ กำลังมีภารกิจใหญ่หลวง เป็นทั้งเรือจ้างฝีพาย คนคัดท้าย ถือเป็นผู้บริหารคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่บอกว่า การไปญี่ปุ่นเป็นประสบการณ์ที่เขามีเพื่อน มีสายสัมพันธ์ ซึ่งแตกต่างจากบางคนที่จับกลุ่มแต่กับชาวไทย และไม่ได้ความเป็นเพื่อนจากชาวญี่ปุ่นกลับมาเลย
รวมถึงคำสอนจาก อาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ว่า "ญี่ปุ่นไม่ได้มีอะไรเลย พวกเขาต้องกอบกู้ประเทศขึ้นมาจากซากสงคราม แต่สิ่งเดียวที่ญี่ปุ่นมีและมีมากด้วยคือ ทรัพยากรบุคคล เป็นทรัพยากรบุคคลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจนขึ้นมาอยู่แถวหน้าในโลก"
สู้ต่อไป กัมบาริยะ !!@
1 comment:
ขอยกย่องอาจารย์ครับ แจะเอาอาจารย์เป็นแบบอย่าง เคยได้เรียนกับอาจารย์ด้วย ดีใจจังครับ (ขอโทษครับที่ไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร)
Post a Comment