Pineapple TH-PH

Done

Wednesday, November 5, 2008

ฝึกสุนัขขั้นพื้นฐาน เพื่อการอยู่ร่วมกัน

ฝึกสุนัขขั้นพื้นฐาน เพื่อการอยู่ร่วมกัน

ความ สำคัญในการเลี้ยงสุนัขอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การฝึกหัด เพื่อให้สุนัขมีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับคนอย่างมีความสุข การฝึกสุนัขมีหลายอย่าง เช่น การฝึกใช้งานต่างๆ ฝึกประกวด ฝึกให้เรียนรู้เรื่องที่จำเป็น การฝึกประการหลังสุดน่าจะมีความหมายและจำเป็นมาก เนื่องจากการฝึกประการแรกๆ เป็นการฝึกเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่การฝึกประการสุดท้ายที่กล่าวเป็นการฝึกเพื่อให้สุนัขกับคนอยู่ด้วยกัน และยังเป็นพื้นฐานในการฝึกชั้นสูงต่อไปอีกด้วย

สุนัขที่มีความ สามารถรับการฝึกต่างๆ ได้ตั้งแต่การใช้งานขั้นพื้นฐานนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นสุนัขสายการใช้งาน เสมอไป สุนัขอื่นก็สามารถรับการฝึกสอนได้เช่นกัน ขึ้นอยู่ที่ผู้ฝึกจะมีทักษะการฝึกมากน้อยประการใด การฝึกสุนัขจึงต้องเริ่มที่ผู้ฝึกก่อนเป็นประการแรก คุณสมบัติของผู้ฝึกสุนัขจะต้องเป็นคนที่ใจเย็น มีความสุขุมรอบคอบ รู้จักเหตุและผล ไม่วู่วามโหดร้ายและที่สำคัญไม่ควรลงโทษสุนัขเมื่อสุนัขไม่สามารถทบทวนบท เรียนได้ดังใจ เข้าใจการทำงาน รู้จักใช้จิตวิทยาในการฝึกสอน และรู้ความต้องการของสุนัขในบางขณะที่ฝึกหัด

อุปกรณ์ในการฝึกสุนัข ก็เป็นสิ่งจำเป็นรองลงมา ได้แก่ โซ่คอ สายจูง สำหรับสุนัข ส่วนที่จำเป็นใช้สำหรับผู้ฝึกได้แก่ หมวกกันความร้อน รองเท้าผ้าใบ เสื้อผ้าที่รัดกุม ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดเหงื่อ น้ำดื่ม และช่วงเวลาที่เหมาะสม

การ ฝึกสุนัข ท่านสามารถฝึกสอนสุนัขได้ทุกสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์เล็ก และพันธุ์ใหญ่ พันธุ์ต่างประเทศหรือพันธุ์ไทย แม้กระทั่งพันทาง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ แต่ส่วนที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ อายุของสุนัข กล่าวคือ ถ้าสุนัขอายุอ่อน หรือแก่เกินไปก็ไม่สามารถรับการฝึกได้เต็มประสิทธิภาพ สุนัขที่จะรับการฝึกสอนได้เป็นอย่างดี ได้แก่ สุนัขที่อยู่ในวัยรุ่น และวัยเจริญพันธุ์หรืออยู่ในวัยที่มีอายุระหว่าง 6-7 เดือน และสูงสุดไม่ควรเกิน 8-9 ปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเรื่องสุขภาพของสุนัขด้วย สุนัขจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ร่าเริง แจ่มใส และมีขนาดตัวที่พอเหมาะจึงจะทำการฝึกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้รวมถึงตัวผู้ฝึกด้วยที่ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง และอยู่ในวัยฉกรรจ์ มีใจรักสุนัข รักการฝึกสุนัข ได้รับการฝึกสอนเกี่ยวกับการฝึกสุนัขมาก่อน ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีผู้แนะนำ

เริ่มต้นการฝึก ให้ท่านเลือกวันที่มีอากาศแจ่มใส ช่วงเวลาบ่ายๆ ที่แดดไม่ร้อนจัด สนามฝึกควรเป็นสนามหญ้า หรือสนามดินที่ปรับให้เรียบไม่ขรุขระเป็นหลุ่มเป็นบ่อ มีพื้นที่กว้างขวางพอที่จะวิ่งหรือเดินวนรอบๆ ได้เป็นอย่างดี นำสุนัขมาใส่โซ่คอ และสายจูงให้เรียบร้อย การฝึกสุนัขต้องให้สุนัขอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ฝึก โดยให้ใช้คำพูดว่า "ชิด" พร้อมกับตบมือซ้ายกับขากางเกงด้านซ้ายให้สุนัขรู้ตัว ถ้าสุนัขยังไม่รู้ ให้จัดให้สุนัขยืนชิดทางด้านซ้ายให้เรียบร้อย เมื่อเรียบร้อยดีแล้วให้ผู้ฝึกก้าวขาออกเดินไปข้างหน้าพร้อมกล่าวคำว่า ชิด ไปตลอดทาง หรือตลอดเวลา และให้ตบมือกับกางเกงไปพร้อมกันด้วย ให้ทำซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง จนแน่ใจว่าสุนัขเข้าใจ และทำได้ด้วยตนเองจึงฝึกในขั้นตอนต่อไป

เริ่มต้นด้วยการให้สุนัข อยู่ทางด้านซ้ายของผู้ฝึก โดยให้ใช้คำว่า ชิด เหมือนเดิม เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้วให้ออกคำสั่งใหม่ว่า "นั่ง" สุนัขต้องนั่งลงต่อจากท่ายืนทางด้านซ้ายของผู้ฝึก ถ้าสุนัขยังไม่สามารถทำได้ ให้ผู้ฝึกดึงสายจูงให้สูงขึ้นพร้อมกดสะโพกส่วนที่อยู่เหนือโคนหางลง เพื่อให้สุนัขนั่งลงให้ได้ พร้อมทั้งออกคำสั่งนั่งไปด้วยกัน เมื่อสุนัขนั่งลงแล้วให้กล่าวชมว่าดี ดีมาก โปรดจำไว้ว่าเมื่อสุนัขทำได้ตามคำสั่งทุกครั้งให้ผู้ฝึกกล่าวชมเชยสุนัขว่า ดี ดีมาก พร้อมกับตบเบาๆ ที่บ่าหน้าของสุนัขเพื่อเป็นการให้กำลังใจ สุนัขจะเข้าใจและภูมิใจในการกระทำของตน ให้ทำซ้ำๆ อย่างนี้หลายๆ ครั้ง จนกว่าสุนัขจะเข้าใจ และสามารถทำได้ด้วยตนเองเมื่อผู้ฝึกออกคำสั่ง

ท่าน ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้ว และสามารถทำให้สุนัขของท่านฝึกมาได้สองคำสั่งแล้ว ให้ทบทวนใหม่ โดยเริ่มด้วยคำสั่ง "ชิด" แล้วตามด้วยคำสั่ง "นั่ง" เมื่อสุนัขทำได้ทั้งสองคำสั่งเป็นอย่างดีแล้วให้กล่าวชมเชยว่าดี ดีมาก แล้วเริ่มฝึกคำสั่งต่อไป ได้แก่ คำสั่งว่า "หมอบ" โดยให้เริ่มด้วยคำสั่งชิด และนั่ง

สุนัขอยู่ในท่านั่งด้านซ้ายของ ผู้ฝึกให้ผู้ฝึกออกคำสั่งว่า "หมอบ" สุนัขต้องหมอบลงทางด้านซ้ายของผู้ฝึกทันที ถ้าสุนัขยังไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ฝึกดึงสายจูงลงกับพื้นพร้อมทั้งกดตัวสุนัข ให้หมอบลงแล้วจัดท่าทางให้ดี เมื่อเรียบร้อยแล้วให้ชมสุนัขว่าดี ดีมาก ทำซ้ำๆ กัน เพื่อให้สุนัขเข้าใจและสามารถทำได้เอง ให้ฝึกต่อโดยเริ่มใหม่ในขั้นตอนเดิมว่า ชิด นั่ง และหมอบ ซึ่งเป็นคำสั่งชุดเดียวกัน ให้สุนัขเข้าใจและทำได้โดยไม่ติดขัด ผู้ฝึกต้องกล่าวชมเชยสุนัขทุกครั้งที่มันสามารถทำได้อย่างดี

ท่าน ผ่านมาแล้วสามคำสั่ง และสุนัขก็สามารถทำได้ด้วยดี ทำให้ทั้งสุนัขและผู้ฝึกมีกำลังใจมากขึ้น เมื่อฝึกมาถึงขั้นนี้แล้วให้พักได้ระยะหนึ่ง จำไว้ว่าการพักระหว่างการฝึกเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก ให้ผู้ฝึกพิจารณาว่าสมควรพักเมื่อไร ก็ให้พักได้ตามอัธยาศัย โดยให้สังเกตสุนัขที่กำลังฝึกอยู่ด้วยว่ามีอาการเหนื่อยหรือเบื่อบ้างหรือ ไม่ ถ้าเห็นว่าเหนื่อยแล้วก็ให้พักทันที หลังพักแล้วให้เริ่มฝึกใหม่โดยให้เริ่มใหม่ในขั้นตอนแรกและจบลงที่ขั้นตอน สุดท้ายที่ฝึกค้างไว้ สังเกตให้ดีว่าสุนัขทำได้เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้เริ่มฝึกในขั้นตอนต่อไป ได้แก่ คำสั่งว่า "คอย"

การฝึกในคำ สั่ง "คอย" ให้ท่านเปลี่ยนสายจูงให้ยาวขึ้นอีก 2-3 เท่า ของสายเดิม โดยให้สุนัขเริ่มต้นจากท่าหมอบที่อยู่ทางด้านซ้ายของผู้ฝึก และออกคำสั่งว่า "คอย" ให้ผู้ฝึกก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า 1 ก้าว พร้อมกลับหลังหันมาทางสุนัขที่หมอบอยู่ ออกคำสั่งว่า คอย ให้ทำมือในท่าห้ามยื่นไปข้างหน้าสุนัข ซึ่งอยู่ในท่าหมอบและแหงนหน้ามองผู้ฝึกตาแป๋ว เมื่อสุนัขทำได้แล้วให้กล่าวชมว่าดี ดีมาก พร้อมทั้งก้าวถอยหลังไปสัก 1-2 ก้าว และทำมือในทางห้ามไปข้างหน้าด้วยกล่าวคำว่า คอย ไปด้วย ปกติแล้วสุนัขมักจะขยับเพื่อจะลุกตามไป ให้ท่านกล่าวคำว่าคอยๆ ซ้ำๆ กัน และพยายามจัดให้สุนัขคอยอยู่ที่เดิมในท่าหมอบ เมื่อสุนัขทำได้ดีแล้วให้กล่าวชมว่า ดี ดีมาก และให้เพิ่มระยะคอยให้มากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมทั้งให้ก้าวให้ห่างออกไปจนสุดสายจูง และทำมือในท่าห้ามไปพร้อมกันด้วย

ท่านฝึกสุนัขของท่านครบกระบวนท่าของการฝึกขั้นพื้นฐานไปเรียบร้อย แล้ว ได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า การฝึกขั้นพื้นฐานนี้เป็นการฝึกเริ่มต้นของการฝึกในขั้นสูงต่อไป เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้งานประเภทไหน สุนัขต้องผ่านการฝึกขั้นพื้นฐานนี้มาก่อนด้วยกันทั้งสิ้น เพราะการเชื่อฟังคำสั่งขั้นพื้นฐานนี้จะทำให้สุนัขเข้าใจคำสั่งต่างๆ ที่จะต้องนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไปในการฝึกชั้นสูงเพื่อการใช้ งานอย่างมีระบบ และระเบียบวินัยที่ดี

นอกจากการฝึกขั้นพื้นฐานดัง กล่าวแล้ว สุนัขที่ดีและจะสามารถอยู่ร่วมกับคนเลี้ยงหรือเจ้าของได้อย่างมีความสุข ต้องผ่านการฝึกให้อยู่ตามลำพังได้อีกด้วย เช่น การอยู่ในกรง การกินอาหาร การถ่ายให้เป็นที่เป็นทาง เนื่องจากในบางขณะผู้เลี้ยงอาจต้องการความเป็นส่วนตัวและต้องการให้สุนัขของ เขาอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง เช่น อยู่ในกรงได้โดยไม่เห่าเสียงดัง หรือร้องโหยหวนให้เป็นที่น่ารำคาญทั้งตัวเองและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ดังนั้น การฝึกให้สุนัขได้อยู่ในกรงอย่างมีความสุขจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สุนัขปกติชอบอยู่ใกล้เจ้าของ การให้อยู่ในกรงตามลำพังแรกๆ อาจร้องกวนและไม่ยอมที่จะอยู่ง่ายๆ จนบางคนใจอ่อนไม่กล้าขังสุนัขไว้ในกรงตามลำพัง ทำให้สุนัขเสียนิสัย ดังนั้น ต้องฝึกให้สุนัขอยู่ในกรงให้ได้ จิตวิทยาอย่างหนึ่งของการฝึกให้สุนัขอยู่ในกรง ได้แก่ ต้องให้สุนัขมีความรู้สึกว่ากรงนั้นเป็นที่ปลอดภัย และดีที่สุดสำหรับตัวสุนัขเองให้มากที่สุด และที่สำคัญตัวท่านเองต้องใจแข็งไม่ใจอ่อนให้สุนัขหลอกได้ว่าไม่มีความสุข เมื่ออยู่ในกรง สุนัขที่อยู่ในกรงตามเวลาที่กำหนดจะเป็นสุนัขที่มีระเบียบวินัยที่ดี มันจะรู้ว่าตอนไหนต้องอยู่ในกรง เวลาไหนจะได้ออกจากกรง ทั้งนี้ อยู่ที่ท่านเป็นผู้กำหนดและตัวท่านเองจะต้องตรงต่อเวลาให้มาก ถึงเวลาต้องขังก็ขัง ถึงเวลาปล่อยก็ปล่อย การขังสุนัขให้อยู่ในกรงตามเวลายังทำให้ท่านได้สิ่งที่ท่านต้องการอีกมากมาย เช่น การได้อยู่อย่างเป็นส่วนตัว สุนัขจะขับถ่ายเป็นเวลาไม่ทำความสกปรกให้ท่านต้องเช็ดล้าง สุนัขได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ รวมทั้งตัวท่านเองด้วย แรกๆ สุนัขอาจไม่ยอม แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะสุนัขจะเริ่มเห็นว่ากรงของมันนั้นน่าอยู่ และจะชอบอยู่ในกรง สุนัขที่บ้านผม ประมาณ 50-60 ตัว จะเลี้ยงไว้ในกรงเป็นส่วนใหญ่ และทุกตัวมีกรงเป็นของตนเองเฉพาะทุกตัว พร้อมทั้งมีชื่อให้เรียกด้วย ถึงเวลาปล่อยให้ออกมาวิ่งเล่นและถ่ายทุกข์ พอได้เวลาเรียกเข้ากรงทีละตัวทุกตัวจะรู้ว่ากรงของตนนั้นอยู่ที่ไหน จะวิ่งไปรอหน้ากรง ผมเพียงแต่เปิดประตูกรงและปิดเวลามันเข้าไปแล้วเท่านั้น หลังจากนั้น ผมก็จะมีเวลาทำอย่างอื่นได้อย่างสบาย ไม่มีสุนัขมาคอยจ้อง พอถึงเวลาก็ไปเปิดกรงให้ออกมาทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน เช้าเย็นสุนัขทุกตัวจะทราบดี พอถึงเวลาไม่ไปเปิดกรงมันจะเห่าเรียกและร้องกวนทันที ท่านทนได้ไหมเสียงสุนัขร้องพร้อมกันทีเดียว 50-60 ตัว ท่านก็คิดดูเองว่ามันจะดังระบบไฮไฟสักขนาดไหน บางครั้งก็มีมิติซ้ายขวาไม่ต่างไปจากเสียงสเตอริโอของเครื่องเสียงชั้นดีสัก เท่าไหร่

การฝึกสุนัขให้ได้ดีมีเคล็ดลับอยู่อีกอย่าง ถ้าไม่นำมาเล่าผู้รู้อาจหาว่าผมโมเมไปลอกเขามาก็ได้ ที่จริงต้องขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลยว่า บทความของผมทุกบทความที่เขียนขึ้นมานี้ ไม่มีวันไปซ้ำกับของใคร เนื่องจากไม่ได้ลอกเลียนมาจากที่ไหน ผมเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์จริง ที่ผมได้สัมผัสมาด้วยตนเองทั้งสิ้น และก็เชื่ออีกว่าประสบการณ์ของผมนั้นคงไม่ไปซ้ำกับของใครเป็นแน่ เนื่องจากต่างกันทั้งตัวบุคคล ต่างกันทั้งช่วงเวลา และที่สำคัญเหตุการณ์ที่ผมนำมาเล่า ถ้ายังไปซ้ำกันอีก ผมว่าคงถูกรางวัลที่ 1 เป็นแน่ หรือรางวัลที่ 1 ยังอาจถูกง่ายกว่าเสียอีกก็เป็นได้ครับ

เคล็ด ลับของการฝึกสุนัข ได้แก่ การกล่าวคำชม และแสดงความเมตตากับสุนัขที่สามารถทำตามคำสั่งได้ เช่น ดี ดีมาก แล้วใช้มือลูบหน้าลูบหลัง การให้รางวัลอย่างอื่นนั้นท่านทำได้บ้างแต่ต้องอยู่ในดุลพินิจ เนื่องจากระหว่างฝึกถ้าท่านให้รางวัลเป็นอย่างอื่น เช่น อาหาร เมื่อท่านไม่มีอาหารสุนัขก็จะไม่ทำตาม แต่การให้รางวัลด้วยคำพูดว่า ดี ดีมากนั้น ไม่มีวันหมด และสามารถให้ได้ทุกเวลาที่สุนัขทำได้ตามคำสั่ง การใช้เสียงในการชมหรือดุ ท่านต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย การกล่าวชมปกติต้องเป็นเสียงสูง เช่น ดี ดีมาก เมื่อสุนัขทำได้ตามคำสั่ง การดุสุนัขเมื่อสุนัขดื้อ หรือทำผิด ปกติต้องใช้เสียงต่ำ ได้แก่ อย่า ไม่ เป็นต้น ส่วนคำสั่งให้ทำตาม เช่น ชิด นั่ง หมอบ คอย ต้องใช้เสียงปกติ สุนัขทุกตัวไม่สามารถฟังภาษาคนได้รู้เรื่อง แต่ที่มันปฏิบัติตามคำสั่งได้ไม่ผิดเพี้ยนนั้น มันฟังจากน้ำเสียงในการสั่งมากกว่า มันรู้ว่าถ้าเป็นเสียงสูงเป็นการกล่าวชม ได้แก่ ดี ดีมาก เสียงต่ำเป็นการตำหนิหรือคำดุ ได้แก่ อย่า ไม่ และถ้าเป็นเสียงธรรมดาเสียงปกติก็จะเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติ ได้แก่ ชิด นั่ง หมอบ และคอย ประกอบด้วยท่าทางที่สุนัขคุ้นเคย

ถ้าท่านสามารถทำได้ เช่นที่ว่านี้ เชื่อว่าสุนัขของท่านจะต้องเป็นสุนัขแสนรู้ได้ไม่ยาก และคนที่ไม่รู้ก็จะกล่าวว่าสุนัขตัวนี้มันรู้ภาษาคน ทำให้ท่านภูมิใจและยิ้มแก้มแทบปริได้ไม่ยาก ไม่แน่ถ้าร่ำลือกันมากๆ ต่อๆ ไปไม่นาน สุนัขของท่านอาจกลายเป็นสุนัขวิเศษเหาะได้ในพริบตา จำไว้ครับ เลี้ยงสุนัขต้องฝึกให้มันรู้เรื่อง รู้จักคำสั่ง และสามารถปฏิบัติได้ สวัสดีครับ...



**ขอขอบคุณ สุนัขนายแบบจาก ทรงไทยทัวร์ฟาร์ม จังหวัดปทุมธานี โทร. (081) 331-8004, (087) 088-7910 หรือ (02) 998-3961

 

No comments: