คนที่ทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะเป็นกะดึกหรือผู้ที่ทำงานหมุนเวียนสลับกะไปเรื่อยๆ แบบนี้จะเป็นการรบกวนวงจรนาฬิกาของร่างกาย ผลที่ตามมา...น่าสนใจยิ่ง
1 ปีก่อน หนูนา แม่ลูกอ่อนวัย 35 ปีตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อย้ายตามสามีสุดที่รักพร้อมหอบลูกวัย 3 ขวบและ 2 ขวบไปอยู่ต่างจังหวัด เธอเลือกทำงานให้กับบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่คนละเขตเวลา นั่นหมายความว่าพอเมืองไทยพลบค่ำ อเมริการุ่งสาง
ในฐานะผู้จัดการฝ่ายวิจัย หนูนาเริ่มทำงาน 3 ทุ่มไปจนถึง 8 โมงเช้ารุ่งขึ้นทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ หยุดเสาร์ -อาทิตย์ ทำให้ช่วงชีวิตของเธอผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไป
ลักษณะงานของ หนูนา เหมือนกับเหมยลี่ นางเอกภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ที่ต้องหาข้อมูลหุ้นส่งให้ลูกค้าทั่วโลกไม่มีผิด ต่างกันตรงที่ หนูนา เป็นสาวแม่ลูกอ่อนจึงมีภาระหน้าที่ในการดูแลลูก และสามี ทำให้เวลาในการพักผ่อนน้อยกว่า
ที่แย่กว่าคือ เธอเริ่มเผชิญปัญหาสุขภาพเข้าอย่างจัง หลังจากเปลี่ยนมาทำงานกะดึกได้ปีกว่า สังเกตได้จากอาการหงุดหงิด ซึมเซา น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนดูราวกับว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3
" เริ่มรู้สึกตัวว่า มองโลกในแง่ร้าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ค่อยได้สังคมกับใครเหมือนสมัยก่อน บางครั้งเกิดอยู่ดีๆ ปากก็ชาขึ้นมาจนตกอกตกใจ เพราะกลัวว่ามันลุกลามไปมากกว่านี้ จนไม่แน่ใจว่า จะสามารถทำงานนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน " หนูนาเอ่ยปรับทุกข์
นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์จากศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่ง แวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มมีคนส่วนหนึ่งเริ่มหันมาทำงานกะกลางคืนกันมากขึ้น นอกเหนือจากอาชีพในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ อย่างแพทย์ พยาบาล ตำรวจ รปภ.นักจัดรายการวิทยุ
"คนที่ทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะเป็นกะดึกหรือผู้ที่ทำงานหมุนเวียนสลับกะไปเรื่อยๆ แบบนี้จะเป็นการรบกวนวงจรนาฬิกาของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ฮอร์โมน เอ็นไซม์ต่างๆ หรือสารเซลล์ประสาทสมองของเรา มีกระบวนการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ถ้าคนไหนที่ปรับตัวได้ดีก็ไม่มีปัญหา แต่คนไหนที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะทำให้มีความผิดปกติทางด้านสุขภาพขึ้นได้"
การทำงานเป็นกะในช่วงกลางคืนจะทำให้เวลานอนของผู้ประกอบอาชีพเปลี่ยน แปลงไป ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพตามมาได้หลายอย่างเช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง, น้ำหนักขึ้น, นอนไม่หลับ, โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ไม่นับรวมโรคมะเร็ง ทั้งนี้เนื่องจากมันเข้าไปขัดจังหวะการทำงานของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย และฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งผลิตในเวลากลางคืน มีคุณสมบัติกดการเติบโตของก้อนเนื้อ
“การนอนไม่พอจะทำให้ระบบภูมิคุ้มโรคอ่อนแอถูกจู่โจมได้ง่ายและสามารถ ต่อสู้ กับเซลล์มะเร็งได้น้อยลง งานวิจัยหลายชิ้นพบอัตราการเป็นมะเร็ง ทรวงอก และมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นในหมู่ชายหญิงที่ทำงานตอนกลางคืน รวมถึงโอกาสที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ เพราะความดันโลหิตสูงกว่าผู้ที่ทำงานกะกลางวัน ” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
ผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องทำงานอยู่กะกลางคืน จึงควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะผู้หญิง หรือผู้สูงวัย ซึ่งจะมีข้อจำกัดเรื่องปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจมากกว่าผู้ชาย หรือผู้ที่มีสถานภาพโสด ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วย่อมมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าในช่วงเป็นประจำเดือน หรือ ตั้งครรภ์ จะมีอารมณ์แปรปรวนง่าย
ข้อแนะนำสำหรับคนทำงานกะดึกอย่างแรก คือ การนอน ถ้าใครที่ทำงานช่วงค่ำเลิกงาน 8 โมงเช้า ควรที่จะฝึกตัวเองให้นอนหลับในช่วงเช้า 9-10 โมงเช้า ฝึกร่างกายให้รับรู้ว่าเราต้องนอนหลับให้ได้ แต่ไม่ควรใช้ยานอนหลับ เพราะอาจทำให้ต่อไปเราจะเกิดอาการดื้อยาและต้องเพิ่มยาไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว โดยหลักการที่ถูกต้องควรจะนอนให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
ต่อมาคือ อาหาร การทำงานกะดึกก่อนเข้างานต้องทานแค่เพียงเล็กน้อย ถ้าระหว่างทำงานถ้าหิวก็ให้ทานเป็นมื้อเล็กๆ พอเลิกงานก็ให้ทานเป็นมื้อใหญ่ได้เลยทำให้หลับสบาย
นอกจากนี้ คนทำงานกะควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน อาจจะช่วยให้เราตื่นตัวได้บ้าง แต่ถ้าบริโภคมากไปจะทำให้เกิดแนวโน้มเป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือปวดศีรษะ
นอกจากต้องปรับในเรื่องของการนอนและการรับประทานอาหารแล้ว ควรใส่ใจเรื่องของการออกกำลังกาย 3 วันต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 30 นาที
ส่วน ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องทานยาเป็นประจำ เช่น โรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคความดัน ควรที่จะปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพราะการทำงานอาจจะรับประทานหรือนอนไม่ตรงเวลาตามที่แพทย์กำหนด เพื่อแพทย์จะได้ปรับเวลาการรับประทานยาให้เหมาะสมกับเรา รวมทั้งเวลาที่ไม่สบาย ควรแจ้งแพทย์ที่รักษาด้วยว่าเราทำงานกะกลางคืน เพื่อจะได้สามารถปรับการกินยาได้อย่างเหมาะสม
No comments:
Post a Comment