นักวิชาการแนะคนไทยปรับตัวรับเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกผันผวน เร่งออมเงิน และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รวมถึงการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมากว่าการบริโภคเพื่อความสุข ระบุวิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยทุกอย่างจะไม่เลวร้ายจนเกินไป หากคนใช้ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว
นายวรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรษฐศาสตร์และกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวในงานบรรยายเรื่อง "คนไทยจะอยู่อย่างไรในสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจปัจจุบัน"ว่า ในยุคปัจจุบันนี้รายได้ของประชาชนในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สินค้ากลับแพงขึ้นมากจากภาวะเงินเฟ้อ โดยหากเปรียบเทียบแล้วเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนจะเลวร้ายกว่าการ ถูกโจรปล้นร้อยครั้ง เนื่องจากมีผลกระทบกับทุกคนภายในประเทศ
"เงินที่เก็บไว้มีค่าลดลง โดยประเทศอื่น เช่นอเมริกาใต้ได้เคยเกิดภาวะนี้เช่นกัน แต่มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 400-500% เป็นเหตุให้ข้าวของแพงขึ้น 5 เท่าตัว โดยในประเทศไทยยังถือว่าไม่โชคร้ายขนาดนั้น ของเรา 5% เราก็ร้องโอ๊กแล้ว"นายวรากรณ์กล่าว
ทั้งนี้ การมองปัญหาในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นปัญหาใหญ่หรือเล็ก เพราะว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นตลอดเวลาและเป็นเรื่องที่วนเวียนไปมา ไม่มีทางอยู่คงที่เหมือนชีวิตคน โดยไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่มีปัญหาชีวิต และวิกฤติเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องไม่ใหญ่นักเพราะเกิดขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้นการที่เราคิดอย่างไรพฤติกรรมเราก็จะเป็นเช่นนั้น เหมือนอย่างหนังสือชื่อเดอะซีเคล็ด เป็นหนังสือขายดีติดอันดับโลกได้ก็เพราะเคล็ดลับของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว โดยเมื่อเราคิดอย่างไร เราก็จะดึงดูดสิ่งนั้นเข้ามาหาตัว ถ้าเราคิดเรื่องร้าย สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นกับตัวเรา เช่นเราคิดว่าเราแข็งแรงเราก็จะแข็งแรงเป็นต้น
สำหรับการปรับตัวของคนไทยในปัจจุบันควรที่จะต้องอยู่ให้ต่ำกว่าฐานะ เพราะว่าของแพงขึ้นอย่างน้อย 5% ซึ่งหากเราใช้เงินโดยไม่คำนึงถึงอนาคตแล้ว จะเสียโอกาสในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของการทำกำไร และค่าเสื่อมราคาหากนำไปบริโภคในสินทรัพย์ที่ต้องหักลบค่าเสื่อมออกไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินพอที่ผ่อนรถยนต์ราคา 9 แสนบาท ถ้าคิดรวมดอกเบี้ย ราคาจะรถยนต์จะเป็นล้านกว่าบาท พอผ่อนหมด 3 ปี รถยนต์ราคาเหลือ 7 แสน หายไป 4 แสนบาท แต่ถ้าซื้อรถมือสอง ราคา 2 แสนบาท จะมีเงินเหลือไปดาวน์คอนโดมิเนียม เอาค่าเช่ามาผ่อน อีก 10 ปี ทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และเป็นเครื่องปั๊มเงินในอนาคต ทำให้เเราต้องเสียโอกาสทำรายได้เพิ่ม
นายวรากรณ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการออมที่เห็นว่าเหมาะสมน่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม ซึ่งเป็นการลงทุนในหุ้นแทนท่าน สามารถนำส่วนนี้มาลดหย่อนภาษี รัฐยอมให้หักภาษีได้ถึง 500,000 บาท จะทำให้มีเงินลงทุนในอนาคต หรืออาจซื้อกองทุนพันธบัตรรัฐบาล
"คนไทยต้องออมมากกว่าเดิม การออมคือการสร้างฐานะในอนาคตการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม เราอาจเอาค่าเช่ามาผ่อน ควรซื้อที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และมีคนอยู่คึกคัก ซื้อปุ๊บจะได้มีคนเช่าปั๊บ อย่าไปซื้อที่อยู่บนแผ่นกระดาษ เพราะมันอาจจะเป็นแผ่นกระดาษไปชั่วฟ้าดินสลาย เมื่อมีเงินออม ถ้าไปลงทุนต้องระวังมากกว่าเดิม อย่าทำอะไรที่โลดโผนเพราะว่ามันผันผวนได้ง่าย"นายวรากรณ์กล่าว
ทั้งนี้ การอยู่อย่างพอเพียงก็จะทำให้มีความสุข วอร์เรน บัฟเฟต เศรษฐีอันดับ 1 ของโลก อยู่ในบ้านหลังเดิมมา 30 ปี โดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ที่บ้าน ไม่มีเครื่องบินส่วนตัว ทั้งที่เขาขายเครื่องบิน เขาบอกว่าทำไมต้องเปลี่ยนบ้านเพราะมีความสุขอยู่แล้ว ถ้าไม่คาดหวังเกินไป ก็จะมีความสุข ถ้าทำอะไรให้ใครแล้วคาดหวัง แค่คาดหวังก็ผิดตั้งแต่คิดแล้ว
นายวรากรณ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้เกิดปัญหาเกือบทุกภูมิภาค เนื่องจากอำนาจซื้อส่วนใหญ่จะมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อเกิดปัญหาว่างงานในสหรัฐอเมริกาทำให้กำลังซื้อหดหายไป ประเทศอื่นๆด รวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
"อเมริกาจงใจทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนเพื่อที่จะขายสินค้าได้ ผู้ส่งออกของเราก็ได้รับผลกระทบเพราะค่าเงินบาทแข็ง ขายสินค้าได้ยาก เมื่อได้เงินมา แลกเป็นเงินไทยก็ได้น้อย ตรงข้ามกับปัญหาเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เงินบาทอ่อน ดอลล่าร์ละ 50 บาท ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะมีปัญหาดอลล่าร์ถูกเกินไป ราคาน้ำมันก็ขึ้น ทำให้ข้าวของแพง ปีนี้เป็นปีที่ข้าวมีราคาแพง เนื่องจากจีนและญี่ปุ่นกว้านซื้อข้าวเหนียวไปหมักทำเหล้า เมื่อข้าวมีราคาดีเราควรดีใจเพราะเกษตรกรเราได้ประโยชน์หลังจากที่ข้าวราคา ตกต่ำมานาน"นายวรากรณ์กล่าว
ทั้งนี้ การเมืองถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจเกิดความผันผวน เพราะการเมืองส่งผลต่อการคาดคะเนของคน ยกตัวอย่างเช่น คนสิงคโปร์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมั่นคง เพราะเชื่อว่าจะควบคุมได้โดยใครคนหนึ่ง แต่คนฮ่องกงกลับมองว่า การเมืองไทยมีปัญหาทำให้ราคาหุ้นตกต่ำ
Pineapple TH-PH
Done
Tuesday, March 18, 2008
ปรับตัวรับเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกผันผวน เร่งออมเงิน และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รวมถึงการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมากว่าการบริโภคเพื่อความสุข
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment