Pineapple TH-PH

Done

Monday, March 2, 2009

อย่าเสียศูนย์ เวลาสูญเสีย

การที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ ก็เพราะศูนย์(จิตใจ)ของเราสมดุล ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ไม่สุขหรือไม่ทุกข์จนเกินไป แต่ถ้าวันใดที่เราเจอปัญหาอุปสรรคหนักๆในชีวิต อาจจะทำให้ชีวิตเริ่มเสียศูนย์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่คนเราต้องสูญเสียสิ่งที่เรารักไป ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักต้องจากไป ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทองที่อุตส่าห์เก็บหอมรอบริบมาทั้งชีวิตสูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือคนที่เรารักต้องพลัดพรากจากเราไป

 

คนทุกคนย่อมมีปัญหาหรือความเสี่ยงในชีวิตอยู่ 2 กลุ่มหลักคือ

 

    *

      ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความ เสี่ยงกลุ่มนี้ก็คือ การเกิด แก่ เจ็บตาย การมีสุขและมีทุกข์ การมีความโลภ โกรธ หลง (ซึ่งเป็นอารมณ์ประจำตำแหน่งมนุษย์) ความเสี่ยงกลุ่มนี้ทุกคนรู้ทุกคนรับทราบ แต่จะมีสักกี่คนที่ได้วางแผนเตรียมรับมือกับมัน ความเสี่ยงกลุ่มนี้ไม่มีใครหลีกหนีได้ ไม่สามารถไปกำหนดอะไรได้ มันจะเกิดก็ต้องเกิด จะเกิดช้าเกิดเร็วก็ห้ามไม่ได้

    *

      ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ ความเสี่ยงกลุ่มนี้ก็คือ ความจน ความลำบากในชีวิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาการทำงาน ปัญหาเพื่อนฝูง ปัญหาเรื่องทรัพย์สิน ฯลฯ ความเสี่ยงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม และเป็นความเสี่ยงที่ดูแล้ว ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต แต่ระดับความรุนแรงของปัญหาในกลุ่มนี้ มักจะมีมากกว่าปัญหาในกลุ่มแรก เช่น การผูกคอตายเพราะอกหัก การกระโดดตึกตายเพราะผิดหวังเรื่องรัก เรื่องเรียน การฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งถ้าพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าผลกระทบของปัญหาเหล่านี้มีมากในสังคมในปัจจุบัน

 

เวลา ที่มีชีวิตปกติ คนเราสามารถประคับประคองรถยนต์ชีวิตคันนี้ให้แล่นไปได้ดี แต่พอเจอปัญหาอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ รถชีวิตบางคันอาจจะทำให้เสียศูนย์หรือควบคุมได้ยาก แต่ก็เพียงชั่วเวลาสั้นๆก็สามารถปรับศูนย์ให้กับคืนปกติด้วยตัวเองได้ เช่น โดนแม่ดุด่า อาจจะเซ็งไปสักพักหนึ่งทำอะไรที่คนธรรมดาคนไม่ทำกันสักวันสองวัน แล้วก็กลับมาเป็นคนปกติได้ แต่ถ้าเจอปัญหาหนักๆ เจอปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน เจอปัญหาที่กระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง มักจะทำให้คนเราเสียศูนย์ไปได้ง่ายและยากต่อการปรับศูนย์ด้วยตัวเอง เช่น การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่เรารัก คนมักจะแสดงอาการเสียศูนย์ให้เห็น เช่น ควบคุมสติตัวเองไม่ได้ ทำอะไรในสิ่งที่คนปกติเขาไม่ทำกัน คิดสั้น ประชดชีวิต หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ฯลฯ

 

ใน เมื่อชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง (พูดเหมือนภาษาพระเลย) เราจึงไม่ควรดำเนินชีวิตอย่างประมาท เราควรจะจัดเตรียมตัวเตรียมใจของเราให้พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่เป็นความ เสี่ยงในชีวิตดังกล่าวอย่างมีสติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ชีวิตเกิดอาการเสียศูนย์เหมือนรถยนต์ที่ตกหลุมตก บ่อ จึงอยากจะแนะนำแนวทางในการป้องกันไม่ให้ชีวิตเสียศูนย์เมื่อเกิดการสูญเสีย ดังนี้

 

    *

      ซ้อมรับกับความสูญเสีย เรื่อง บางเรื่องที่เราต้องเจอแน่ๆ แต่จะเร็วหรือช้า ก็ควรจะซ้อมสูญเสียไปตั้งแต่เนิ่น เช่น พ่อแม่ของเราต้องจากเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราเคยซ้อมทำใจไว้บ้างหรือยัง ของรักของหวงของเราอาจจะหายไปจากชีวิตเรา เราเคยซ้อมรับมือเตรียมใจกับมันไว้บ้างหรือยัง การซ้อมคิดเพื่อรับมือกับการสูญเสีย จะช่วยให้จิตใจของเราได้มีโอกาสผัสผัสกับความผิดหวังบ้าง ถึงแม้จะไม่รุนแรงมากก็ตาม อย่างน้อยที่สุด จิตเราเคยมีความรู้สึกเสียใจ เสียดายกับการซ้อมสูญเสียมาแล้วบ้าง เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์จริงก็คงจะพอช่วยไม่ให้เสียศูนย์มากนัก

    *

      นำเหตุการณ์การสูญเสียของคนอื่นมาเป็นบทเรียน ใน ชีวิตประจำวันของเรา มีเหตุการณ์การสูญเสียของคนรอบข้างเราตลอดเวลา บางคนเสียคนรัก บางคนเสียของรัก ขอให้เราลองนำเอาความรู้สึกและเหตุการณ์ของคนรอบข้างของเรามาคิดว่า ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะทำอย่างไร เหมือนหรือต่างกับเขา เหมือนเวลาเขาขับรถ แล้วไปเจอรถคันหนึ่งเสียหลักพุ่งชนราวสะพาน ขอให้เราคิดเสมอว่าถ้าเป็นเรา เราควรจะทำอย่างไร เพราะเตรียมพร้อมโดยการเรียนรู้จากเหตุการณ์ในชีวิตคนอื่น

    *

      รีบกลับมาตั้งหลักโดยการตั้งสติเมื่อเจอปัญหา ถ้า เราขับรถไปแล้วยางแตกหรือระเบิด คนที่จะสามารถรักษาชีวิตของตัวเองให้รอดได้คือคนที่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือตกใจก็สามารถรู้ตัวว่าควรจะทำอย่างไร ในขณะที่คนบางคนตกใจทำอะไรไม่ถูกและไปเหยียบเบรกโดยอาศัยพฤติกรรมอัตโนมัติ ทำให้รถเสียศูนย์เสียหลัก และอาจจะทำให้สูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อประสบปัญหาใดๆก็ตาม อันดับแรกคือการตั้งสติรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดึงสติที่กำลังวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงกลับมาให้ได้ก่อน

    * ประคองตัวเองก่อนที่จะไปคำนึงถึงคนอื่น เมื่อ เกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม ขอให้คิดถึงการมีชีวิตอยู่ของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ต้องไปกังวลว่าสิ่งอื่นนอกเหนือจากตัวเราจะเป็นอย่างไร เช่น เวลารถเสียหลัก ไม่ต้องไปคิดเรื่องรถพัง ไม่ต้องไปคิดเรื่องว่าจะไปชนรถคนอื่น ไม่ต้องไปคิดว่าตำรวจจะจับ ฯลฯ ต้องคิดถึงตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อเราคิดถึงตัวเอง เราสามารถประคับประคองตัวเองให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้แล้ว ถึงตอนนั้นค่อยไปคิดถึงเรื่องอื่นที่อยู่นอกตัวเรา เพราะถ้าตัวเองยังเอาตัวไม่รอด ไม่คิดถึงคนอื่น สิ่งอื่น ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

 

      สรุป การสูญเสียบางเรื่องไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า เราก็จะสามารถจัดการกับมันได้ โดยที่เราไม่มีการเสียศูนย์และไม่เสียใจในภายหลัง

No comments: