กัดดาฟี กับ เหลาจื้อ
ดูเหมือนว่าผู้คนจะทนไม่ได้ อึดอัดและอืดอาด ภายใต้กฎระเบียบที่มากขึ้น จนไม่รักองค์กร ไม่รักผู้ปกครอง ที่ไหนมีกักขัง ที่นั่นย่อมมีหลีกหนี
อยากให้นายพลกัดดาฟี ได้อ่านบทความนี้จริงๆ หลายสัปดาห์แล้ว ที่ผู้คนทั้งโลกกำลังเป็นห่วงเหตุการณ์ประท้วง เดินขบวน และการปราบปรามผู้คนในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในลิเบีย จนส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยิ่งมีราคาแพงมากขึ้น ซึ่งการประท้วง เดินขบวน ความไม่พอใจของผู้คนจะยิ่งลุกลามไปกันใหญ่ กลายเป็นปัญหาของการปกครองและสถานะของผู้ปกครองประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เมื่อสองพันปีก่อน ปราชญ์ชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่สองท่านมีโอกาสมาพบปะสนทนากัน ระหว่าง “ขงจื๊อ” ผู้ซึ่งยึดมั่นถือมั่นในการปกครองด้วยกฎระเบียบ กติกาที่ดี เพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข ซึ่งไม่ปฏิเสธการใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองโดยมีข้อแม้ว่าต้องถูกทำนองคลองธรรมและยุติธรรม ส่วน
“เหลาจื๊อ” ผู้อาวุโสกว่า มุ่งเน้นการปกครองแบบจารีตปฏิบัติตามวิถีแห่งธรรมชาติ อย่างยุติธรรม อย่างมีคุณธรรม ทำให้บ้านเมืองมีนักปกครองที่ดี มีความสงบสุข ทั้งคู่มีแนวทางต่างกัน แต่มีความมุ่งหวังเหมือนกัน
บทสนทนาของทั้งคู่จบลง เมื่อ “ขงจื๊อ” วัย 35 ปีในขณะนั้นเกิดความเข้าใจและยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนปรัชญาการปกครองมาเป็นแบบผสมผสานทั้งกฎระเบียบข้อบังคับและวัฒนธรรม http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=684&Itemid=13
เมื่อวันก่อนเพื่อนใน facebook ชาวสิงคโปร์ของผม โอดครวญทำนองว่า โรงเรียนอนุบาลที่ลูกเรียนอยู่ ตั้งกฎปรับเงินผู้ปกครองที่มาส่งลูกสาย 5 ดอลลาร์ในทุกๆ 5 นาที สร้างความไม่พอใจเนื่องด้วยไม่เคยมีการบอกกล่าวกันก่อนหรือหาแนวทางอื่นในการแก้ปัญหานี้ เพื่อนผม comment ด้วยว่าทางโรงเรียนไม่เข้าใจชีวิตในสังคมเมือง ปัญหาจราจรและเส้นทางของการเดินทางที่ค่อนข้างมีข้อจำกัด เพื่อนบางคนเลยแนะนำให้ย้ายโรงเรียน ขณะที่เพื่อนอีกคน comment ว่า โรงเรียนอื่นๆ ใช้กฎนี้แล้วเช่นกัน ส่วนผม comment ไปว่ายูมาอยู่เมืองไทยสิ…ฮา
นี่เป็นตัวอย่างที่เน้นการใช้ Regulation มากกว่า Culture หรือเป็น Culture ที่ยึดติดกับ Regulation ไปซะแล้ว
ทางกลับกัน โรงเรียนที่ลูกชายผมเรียนอยู่ในเมืองไทย ทุกๆ เช้าผมจะสังเกตเห็นเจ้าของโรงเรียนพร้อมด้วยครูใหญ่ ครูน้อยอีก 4-5 ท่าน มายืนรับเด็กนักเรียน และยกมือไหว้ทักทาย ผู้ปกครอง ครู และพนักงานของโรงเรียนที่ทยอยกันมา ผู้มาถึงก็จะยกมือไหว้ตอบ เจ้าของโรงเรียนยังมารอสวัสดีแต่เช้า ใครจะกล้ามาสายครับ แบบนี้เป็นการสร้าง Culture ที่ดี ใช้ Regulation น้อยลงซึ่งได้ผลมาก เพราะผู้นำลงมือปฏิบัติเอง ผู้คนเกิดจิตสำนึกที่ดีและให้ความร่วมมือ
ลูกผมเองเคยเล่าให้ฟังเรื่องของการทำโทษเด็กนักเรียนที่คุยกันในเวลาเรียนว่า ที่โรงเรียนเก่า ครูจะให้ Detention Card ทันทีเมื่อคุยกันและจะถูกกักบริเวณ ขณะที่โรงเรียนใหม่ ครูจะยอมเสียเวลาสอน เรียกนักเรียนที่คุยกันออกมาที่หน้าห้อง (แน่นอนว่า ลูกของผมเป็นหนึ่งในนั้น ไม่เช่นนั้นคงมาเล่าไม่ได้ละเอียด) อธิบายพร้อมกับจับมือและสบตาเด็กแล้วพูดว่า "ครูจะให้พวกเราคุยกันในช่วงท้ายของเวลา แต่ตอนนี้ขอให้ตั้งใจเพื่อตัวพวกเราเองและไม่รบกวนเพื่อนๆ ที่ตั้งใจเรียน ไม่รบกวนสมาธิของครูในเวลาที่ครูสอน" ลูกเล่าต่อว่า ครูร่ายยาวพูดออกจากใจ ทำให้พวกเด็กๆ รู้สึกผิดที่ไปรบกวนผู้อื่น ซึ่งเมื่อเทียบกับแบบเก่าที่ให้ Detention Card โดยไม่อธิบายความ เด็กจะไม่ค่อยพอใจและไม่ยอมรับ คราวหน้าก็ยังทำผิดอีก
อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ที่โรงเรียนเก่าของลูกผม มีครูชาวอังกฤษห้ามเด็กไม่ให้ใช้ศัพท์แบบ American English เช่น ให้ใช้ “to let” ห้ามใช้ “for rent”
ให้ใช้ “take a bath” ห้ามใช้ “take shower” ใครใช้ผิดจะตัดคะแนน แต่ที่โรงเรียนใหม่สอนให้รู้ที่มาของความแตกต่างและให้ใช้ได้ทั้งคู่ ไม่มีการหักคะแนน
ไล่กันมาตั้งแต่ตะวันออกกลาง ขงจื๊อ เหลาจื๊อ และที่โรงเรียนของลูก ทำให้ย้อนนึกถึงองค์กรที่ทำงาน การปกครองแบบง่ายๆ เป็นกันเอง ไม่มีกฎระเบียบมากมายมักปรากฏให้เห็นในบริษัทห้างร้านใหม่ยามเริ่มต้นกิจการ ต่อเมื่อกิจการขยายใหญ่ขึ้น มีผู้คนเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น จำเป็นต้องกำหนดกฎกติกาและระเบียบต่างๆ ขึ้นเพื่อความเรียบร้อยในการทำงานร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจะทนไม่ได้ อึดอัดและอืดอาด ภายใต้กฎระเบียบที่มากขึ้น จนไม่รักองค์กร ไม่รักผู้ปกครอง “ที่ไหนมีกักขัง ที่นั่นย่อมมีหลีกหนี” ที่สุดคงต้องใช้วิธีการปลูกจิตสำนึกตามแบบฉบับเหลาจื๊อ ดังนั้นแล้ว ยิ่งองค์กรใหญ่ขึ้นยิ่งจำเป็นต้องรณรงค์ให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีควบคู่ไปกับกฎระเบียบข้อบังคับอย่างสมดุลอย่างที่ขงจื๊อดัดแปลงมาใช้ในภายหลัง
องค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ดี กฎระเบียบน้อยลง ผู้คนจะมีความสุข องค์กรที่วัฒนธรรมไม่ดี กฎระเบียบเยอะ ผู้คนมักไม่มีความสุข ซึ่งทุกวันนี้หลายองค์กรยังคงยึดหลักกฎข้อบังคับมากกว่าการสร้างวัฒนธรรมที่ดี เพราะคิดว่าง่ายกว่ากันเยอะ ตรงไปตรงมา แต่หารู้ไม่ว่า เป็นการบั่นทอนกำลังใจและพลังแห่งความสำเร็จ อีกทั้งยังก่อให้เกิดต้นทุนสูงที่แอบซ่อนอยู่อย่างไม่รู้ตัว การผลักดันให้พนักงานช่วยกันคิดสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีต่างหาก จะเป็นการลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อย่างมากมายมหาศาล เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ที่สูงขึ้นทุกๆ วัน ที่สำคัญการสร้างวัฒนธรรมที่ดี ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเหมือนอย่างการลดต้นทุนในรูปแบบอื่นและยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรสืบต่อไป
หลายคนมองหน้าที่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นของ Human Resource แต่ความเป็นจริงนั้นมาจากตัวเราทุกคน คลิกลิงค์ข้างล่างชมตัวอย่างที่คนทุกสาขาอาชีพแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างสังคมดีๆ http://www.facebook.com/video/video.php?v=1580321060954&saved
เสียดายที่นายพลกัดดาฟีไม่ได้มีโอกาสสนทนากับเหลาจื๊อ ข้าวของจึงแพงขึ้นทุกวันทุกวัน แม้แต่น้ำเต้าหู้ที่เคยกินประจำถุงละ 5 บาท เช้านี้ขายถุงละ 13 บาท สงสัยแม่ค้าจะบวกค่าตกใจกับปัญหาที่ลิเบียหรือไม่ก็ข่าวราคาน้ำมันปาล์มเข้าไปด้วย หรือไม่ก็คงมีสายบอกให้รู้ว่า ถั่วเหลืองกับน้ำตาลกำลังจะขึ้นราคาตามมา
No comments:
Post a Comment