|
"ประชาชาติธุรกิจ" อยากให้คนไทยใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเดินหน้า ต่อไป แม้จะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เราเฟ้นหาเทศนาธรรมจากพระอาจารย์ที่ลึกซึ้งในแก่นธรรม 3 ท่าน มานำเสนอท่านผู้อ่าน เพราะเรา เชื่อว่าหลักธรรมคำสอนที่ดีอาจพลิกชีวิตของผู้คนที่จมอยู่ในกองทุกข์ ให้กลับมีความสุขได้เพียงชั่วพริบตา
วิธีบริหารจิตฉบับพระธรรมวิสุทธิกวี
พระธรรมวิสุทธิกวี วัดโสมมนัสวิหาร (ราชวรวิหาร) บรรยายธรรมเรื่อง "การบริหารจิต" เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 เวลา 12.00-13.00 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แก่นธรรมมีสาระดังนี้
ศีลทั้ง 5 ประการหากผู้ใดรักษาได้ดีแล้วย่อมจะได้รับอานิสงส์หรือประโยชน์ในชีวิต 3 ประการ คือ 1.ทำให้ไปเกิดในสุคติโลก สวรรค์หรือที่ดีมีความสุข 2.ทำให้ได้รับทรัพย์สมบัติ 3.ทำให้ดับทุกข์ ความเดือดร้อน ความ วุ่นวายในชีวิตได้ สามารถส่งเข้าสู่พระนิพพานสิ้นทุกข์ในที่สุด ส่วนคนที่ ขาดศีลหรือคนที่ไม่มีศีลย่อมได้รับผลตรงกันข้าม
เช่น ปัจจุบันตนเองเดือดร้อน ครอบครัว สังคม ประเทศชาติเดือดร้อนก็เพราะขาดศีล เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์เดรัจฉานในนรก หากสามารถกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก เศษกรรมชั่วที่ทำไว้ยังเหลืออยู่จะทำให้บุคคลนั้นเกิดมาตกทุกข์ได้ยาก เช่น อายุสั้น โรคภัยไข้เจ็บมากและยากจน เพราะฉะนั้นทุกคนควรรักษาศีล อย่างน้อยก็ศีล 5
อุดมการณ์ 4 ข้อของอาตมา
ท่านทั้งหลายศึกษาพระพุทธศาสนามามากบ้างน้อยบ้าง บางท่านก็เคย เข้าฝึกกรรมฐานย่อมมีประสบการณ์ตามสมควร การศึกษาจบปริญญากัน ทั้งนั้น บางคนปริญญาโทก็ย่อมรู้จักพระพุทธศาสนามากพอสมควร แต่สำหรับอาตมาเป็นพระสงฆ์ศึกษามานานบวชมาตั้งแต่อายุ 17 ปี (2496) ตอนอาตมาบวชเข้าใจว่าบางท่านยังไม่เกิด ตลอดเวลาที่อาตมาศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาก็ไม่เคยเบื่อเพราะคำสอนพระพุทธเจ้าประเสริฐจริงๆ ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งเพลิดเพลิน เป็นประโยชน์ตั้งแต่ตัวเราเอง ญาติพี่น้อง ประเทศชาติ ในชีวิตอาตมามีอุดมการณ์ 4 ข้อ
1) วันใดถ้าไม่ได้รับความรู้ใส่ตนวันนั้นถือว่าขาดทุน ถ้าตื่นแต่เช้าจนค่ำ ไม่ได้ความรู้เลยถึงได้เงินทองสักหมื่นก็ถือว่าขาดทุน แต่ถ้าได้ทำกรรมฐาน ไม่ขาดทุน แม้ไปบรรยายสอนผู้อื่นก็ถือว่าขาดทุนเพราะความรู้ไม่เข้า ความรู้ที่มีจะหมดเรื่อยไป ทุกวันอาตมาจึงต้องอ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อยช่วงเช้าภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ภาษาไทยฉบับหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฎกต้องอยู่รอบ
2) ชีวิตที่ไม่บำเพ็ญประโยชน์เป็นชีวิตที่ไร้ค่า ประโยชน์ตน ญาติพี่น้อง ส่วนรวม ไม่ทำสักอย่างเกิดมารกโลกทำไม ชาวพุทธที่แท้จริงจะต้องบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมด้วย อย่างเราเคารพในหลวงเพราะท่านบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม เราเคารพพระพุทธเจ้าไม่ใช่เพราะพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพียรเพื่อชาวอินเดียแต่ท่านช่วยหมดไม่เพียงมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวดา ก็ช่วยหมด
3) เมื่อทำอะไรให้ทำจริง และทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ ต้องหวังคุณค่าว่าจะเกิดขึ้นแก่สังคมต่อส่วนรวม บางคนไม่เสร็จสักอย่าง บางคนหนังสือสิบเล่มอ่านไม่จบสักเล่ม อย่างนี้งานค้างคาไม่เจริญ
4) ใครก็ตามแม้จะทำความดี แต่ถ้าอยากดัง แบกโลก ประมาท ขาดสันโดษ ไม่รู้จักประมาณ ก็จะประสบความทุกข์และหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้
คนแบกโลกเป็นคนโง่ คิดว่าถ้าขาดตนทุกอย่างจะพังหมด แบกโลกจนประสาทแตก ให้คิดว่าเมื่อเราเกิดก็ไม่ได้แบกอะไรมาให้คิดว่า "เมื่อเรามามีอะไรมาด้วยเล่า เราจะเอาแต่สุขสนุกไฉน เรามามือเปล่าเราจะเอาอะไร เราก็ไปมือเปล่าเหมือนเรามา" ใครจะโกงจะกินเมื่อตายก็ต้องทิ้งไว้หมด
คนอยากดัง อยากโชว์ สิ่งเหล่านี้คู่กับดับ ถ้าอยากดังอย่าหวังจะสงบ
คนประมาท ขับรถโดยความประมาท ใช้ชีวิตด้วยความประมาท พูดจาด้วยความประมาท ชีวิตพังไปเยอะ อย่างคนขับรถซิ่ง ความประมาทเป็นหนทางของความตายทั้งร่างกายและคุณความดี
วิธีแก้จน-สร้างสุข
คนขาดสันโดษ ได้เท่าไรไม่พอไม่รู้จักประมาณ มีภรรยาคนเดียวไม่พอจนฆ่ากันตายไปเลย มีเงินเท่าไรก็ไม่พอจนชีวิตพัง ตนเองก็พัง ชาติบ้านเมืองก็พัง เพราะความโลภของมนุษย์ ได้เท่าไรไม่พอเพราะไม่มีความพอใจ วิธีแก้จนคือพอ ถ้าอยากรวยเดี๋ยวนี้เลย คือรู้จักพอ "ความไม่พอใจจนเป็นคนเข่น พอแล้วเป็นเศรษฐีมหาศาล จนทั้งนอกทั้งใน ไม่เข้ากาล จงคิดอ่านแก้จนเป็นคนพอ"
วิธีแก้จนคือพอ เมื่อพอก็รวย อย่างพระที่อยู่ตามป่าดงท่านก็รวย คือรวยความสุขของท่าน ความสุขอยู่ที่ใจไม่ได้อยู่ที่กิน กาม เกียรติ ถ้าความสุขอยู่ที่เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ พระพุทธเจ้าคงไม่ออกจากวังซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ เทวดาถามพระพุทธเจ้าพระที่อยู่ในป่าฉันมื้อเดียวทำไมมีผิวพรรณผ่องใส เห็นคนอยู่ในเมืองหน้าบูดหน้าเบี้ยวกินวันละสามมื้อ
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ก็เพราะพระเหล่านั้นไม่ได้แสวงหาในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่เพ้อหวังในสิ่งที่ไม่มาถึง เป็นอยู่ในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผิวพรรณของท่านเลยผ่องใส ส่วนพวกคนโง่มัวแต่แสวงหาในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เพ้อหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไม่เป็นอยู่ในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงซูบซีดซบเซาเหี่ยวแห้งไป เหมือนต้นอ้อที่เขียวสดถูกตัดให้เหี่ยวแห้งตายไป บางคนมีเงินมีทองแต่หน้าบูดหน้าเบี้ยว มีลูกก็หน้าบูดหน้าเบี้ยว มีตำแหน่งสูงหน้าบูดหน้าเบี้ยว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าไม่พอ ไม่พอเพียงจึงเดือดร้อน
ฉะนั้น เราต้องรู้จักหลักสันโดษบ้าง รู้จักพอประมาณในการพูด การใช้จ่าย ใครก็ตามที่ทำดีแต่ถ้าอยากดัง แบกโลก ประมาท ขาดสันโดษ ไม่รู้จักประมาณ จะประสบความทุกข์และหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้
ฝึกจิตเพื่อ 3 ส.
คำสอนในพุทธศาสนาแม้จะมีมากแต่ถ้าย่อมี 3 ประการเท่านั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา
1) ทาน คือการให้ทานที่เราให้กันอยู่ ศีลเรา ก็รับแล้วเมื่อสักครู่ สิ่งเหล่านี้พัฒนาจิตทั้งสิ้น คน ให้ทานจิตใจก็จะสูงพัฒนาคน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่คนขี้เหนียวใจต่ำ คนกตัญญูกตเวทีใจพัฒนา คนที่อกตัญญูใจต่ำ
2) ศีล เมื่อมีศีลจิตใจก็จะสูงขึ้น
3) ภาวนา คือการฝึกจิตนั่นเอง การทำกรรมฐานในสมัยพระพุทธเจ้าเรียกการฝึกจิตว่าภาวนา แต่สมัยหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วศัพท์ เปลี่ยนเรียก "จิต" แทนที่จะ "ภาวนา" ก็เรียก "กรรมฐาน" เหมือนภาษาไทยที่ว่า กินข้าว เมื่อไม่ไพเราะจึงเปลี่ยนเป็นทานอาหารหรือรับประทานอาหาร ซึ่งจริงๆ ก็เหมือนกัน
ฉะนั้น คำว่าภาวนาแปลว่า การบริหารจิต พัฒนาจิต อบรมจิต ฝึกจิต การทำกรรมฐาน การทำจิตให้สูงขึ้นอยู่ในคำว่าภาวนาทั้งสิ้น จิตที่สูงขึ้นคือจิตที่ได้รับการอบรมแล้ว ตัวภาวนาตัวนี้ตามศัพท์จริงๆ แปลว่า ทำให้มี ทำให้เกิด ทำให้เป็น ถามว่าทำอะไรให้มี ให้เกิด ให้เป็น คำตอบคือทำจิตของเราให้สะอาด สงบ สว่าง แล้วจิตของเราจะสะอาด สงบ สว่าง ด้วยอำนาจอะไร คำตอบก็คือ จิตของเราจะสะอาดได้ด้วยการมีศีล สงบได้ด้วยการฝึกสมาธิ สว่างได้ด้วยการเจริญปัญญา
การฝึกจิตในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เพื่อกิน กาม เกียรติ แต่เพื่อ 3 ส. ไม่ใช่พื่อ 3 ก. คือได้ความสะอาด สงบ สว่าง ของจิต ถ้าใครนับถือพระพุทธศาสนาแล้วไม่พบความสะอาด สงบ สว่าง ขึ้นชื่อว่าได้แต่เปลือกพระพุทธศาสนา ตัวศาสนาไม่ได้เลย
การที่เรารับศีลก็เป็นการพัฒนาจิตส่วนหนึ่ง คำว่าพัฒนามาจากคำว่า "ภาวนา" เปลี่ยนตัว ว. เป็นตัว พ. วัฒนาเป็นพัฒนา คำว่าพัฒนาเป็นศัพท์ใหม่ซึ่งเกิดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งแต่ก่อนคำว่าพัฒนาไม่มี คำว่าพัฒนาคือภาวนานั่นเอง
คน 4 ประเภทในโลกนี้
ชาวพุทธต้องพัฒนาจิตของตนเอง ถ้าจิตไม่ได้พัฒนาก็แสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธไม่มีศีลแสดงว่าไม่พัฒนา อย่างร่างกายของเราสกปรก เหม็นสาบ ถามว่าพัฒนาหรือไม่ แสดงว่าไม่พัฒนา อ่านหนังสือไม่ออกนั่นคือไม่พัฒนา คนพัฒนาแล้วต้องเจริญทั้งร่างกายและจิตใจ ท่านทั้งหลายคนในโลกนี้มี 4 ประเภท 1) สุขภาพกายเสื่อม สุขภาพจิตเสื่อม 2) สุขภาพจิตเสื่อมแต่สุขภาพกายดี 3) สุขภาพกายเสื่อมแต่สุขภาพจิตดี 4) สมบูรณ์พร้อมทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิต
คนประเภทแรก 1) สุขภาพกายก็เสื่อม สุขภาพจิตก็เสื่อม เคยเห็นหรือไม่ ร่างกายก็อ่อนแอ บ้าๆ บอๆ ไม่รู้เรื่อง อย่างเด็กปัญญาอ่อน ไม่รู้เรื่อง นั่นคือเสื่อมทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิต แต่บางคนปัญญาอ่อนแต่สุขภาพกายยังดี
2) สุขภาพกายดีแต่สุขภาพจิตเสื่อม เช่น บางคนร่างกายอ้วนท้วนแข็งแรงแต่เป็นบ้า โรคจิตโรคประสาท ขี้โมโหขี้โกรธจะเสื่อมมาก
3) สุขภาพกายไม่ดีเจ็บออดๆ แอดๆ แต่สุขภาพจิตดี บางคนตาบอดหูหนวกแต่ใจก็แช่มชื่นเบิกบาน ก็ไม่ได้ทุกข์อะไรมากมาย สุขภาพไม่ดีแต่ใจเขาสู้ ใจยังมีคุณธรรม
4) สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
ในบุคคลทั้ง 4 ประเภทเราต้องการบุคคลประเภทไหนมากที่สุดในครอบครัว ญาติพี่น้อง ในชาติของเราต้องการประเภทที่ 4 และประเภทที่แย่ที่สุดคือประเภทที่ 1 แย่รองลงมาคือประเภทที่ 2 รองลงมาคือประเภทที่ 3 เราต้องการคนประเภทที่ 4 บางคนพยายามออกกำลังกายแต่จิตเสื่อม เช่น ติดสิ่งเสพย์ติด โลภ โกรธ หลงรุนแรง ทำอย่างไรให้ชาติของเรามีคนที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ถ้าเรามีทั้งสุขภาพกายดีสุขภาพจิตดี ชีวิตก็จะพบแต่ความสุข ครอบครัวมีความสุข พ่อแม่มีความสุข ประเทศชาติสุขเกิดการพัฒนา ทำอย่างไรคนจะมีความสมบูรณ์พร้อมทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิตก็ต้องฝึกจิตต้องพัฒนาจิต
ถามว่าระหว่างกายกับจิตอย่างไหนสำคัญกว่ากัน ถ้าเราตอบก็อาจบอกว่าจิตสำคัญกว่า แต่ในวันหนึ่งๆ เรากลับให้ความสำคัญกับกายมากกว่าให้ความสำคัญแก่จิต แม้เราจะพูดให้ความสำคัญว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก แต่ว่าเวลาให้ความสำคัญกลับไม่ให้ความสำคัญกับจิต
เรื่องของกายวันหนึ่งๆ ต้องพักผ่อนให้ได้ 8 ชั่วโมง แล้วใจของเรามีเวลาให้พักผ่อนบ้างหรือไม่ กลับไม่มีนอนแล้วก็ยังคิดไม่หยุด กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นไฟ เพราะกลางคืนมัวแต่คิดไปเรื่อยจนนอนไม่หลับ กลางวันเป็นไฟคือทำงานไม่หยุด ร่างกายมีอาหารวันละ 3 มื้อ ที่กินจุกจิกยังไม่คิดทำให้เกิดโรคอ้วนเข้ามา ใจเราไม่มีอาหารเป็นมื้อๆ อย่างกาย ทำไมถึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ร่างกายเรามีอาบน้ำแปรงฟันตกแต่งสวยงาม แล้วใจของเรามีเวลาแต่งใจบ้างหรือไม่
คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับจิตว่าจิตไม่สำคัญ ปากว่าสำคัญแต่ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ อาตมาอายต่างชาติบางประเทศที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ประเทศเขามีศีลธรรมกว่าเรา อย่างการซื้อสินค้าที่ให้จ่ายเงินเอง ถ้าเป็นบ้านเราหายทั้งสินค้าเงินก็ไม่ได้ ศีลธรรมเขาดีกว่าเรา เศรษฐกิจก็ดีกว่าเรา เราเป็นเมืองพุทธที่นับถือแต่ชื่อ
วิธีบริหารจิต 7 ท่า
แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังรักชาติของเรา ทำอย่างไรชาติของเราจะพัฒนาเหมือนเขาบ้าง ก็ต้องพัฒนาจิตให้เป็น อาตมาขอเสนอวิธีการบริหารจิต 7 ท่า 1) บริหารด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน 2) บริหารด้วยการมีศีล 5 ประจำวัน 3) บริหารท่านั่งคือ นั่งสมาธิ 4) บริหารด้วยท่าเดินคือเดินจงกรม 5) บริหารด้วยท่ายืนคือยืนทำสมาธิ 6) บริหารด้วยท่านอนคือนอนทำสมาธิ 7) บริหารโดยการใช้อุปกรณ์คือมีลูกประคำ
ในหลวงของเราก่อนทรงงานจะสวดมนต์และนั่งสมาธิก่อนในทุกเช้า พระองค์ตรัสว่า ถ้าทำอย่างนี้งานจะออกมาดี อีกประการที่คนอื่นทำไม่ค่อยได้แต่ในหลวงทรงทำได้ คือ ทุกวันอุโบสถในหลวงจะทรงสมาทานศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัด การบริหารด้วยการสวดมนต์ก่อนนอนถ้าเราไม่ค่อยมีเวลาจริงๆ ใช้เวลาแค่ 30 วินาทีก็ได้ ก่อนนอนสวดมนต์เสียบ้าง สวดมนต์ทำให้ใจเบิกบาน คุ้มครองให้อายุยืน โรคภัยไข้เจ็บลด บริหารท่าที่สองคือ มีศีล เรารับจากพระก็ได้อธิษฐานเองก็ได้ คนมีศีลกับคนไม่มีศีลต่างกัน พระพุทธเจ้าสรรเสริญศีลไว้มากเหลือเกิน
ท่านตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานที่ให้แก่สัตว์เดรัจฉานมีผล 100 เท่า คือให้ด้วยความรักเอ็นดู เกิดในสวรรค์ 100 ชาติ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ แก้ไขปัญหาชีวิตได้ดี 100 ชาติ ทานที่ให้แก่คนไม่มีศีล อาทิ พวกขี้เหล้า ขอทาน โดยให้ด้วยความเอ็นดู มีผล 1,000 เท่า แต่ทานที่ให้แก่คนมีศีล 5 ได้โกฐเท่า (เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรไม่อาจนับได้ว่ากี่ลิตร)" คนมีศีลเทวดายังคุ้มครอง ถ้าให้ทานแก่คนที่มีคุณธรรมสูงกว่านี้ คนที่มีศีล 10 ศีล 227 ไปจนถึงพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผลนับไม่ถ้วนเป็นอสงไขย การพัฒนาจิตสองท่านี้ก็สูงแล้ว
การบริหารจิตด้วยการใช้ปัญญา คำสอนพุทธศาสนามีคำสอน ทาน ศีล ภาวนา (มีสองอย่าง คือสมาธิกับปัญญา) ศีลทำลายกิเลสอย่างหยาบ สมาธิทำลายกิเลสอย่างกลาง ปัญญาทำลายกิเลสอย่างละเอียด
การฝึกจิตให้ฝึกทุกวันด้วยการไหว้พระสวดมนต์ ด้วยการมีศีล ทำสมาธิ "ฝึกจิตทุกวันผิวพรรณผ่องใส สุขกายสุขใจ อนามัยสมบูรณ์" เป็น คำกลอนที่อาตมาแต่งเองเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว
ปล่อยวางเสียได้เป็นสุข
ประการต่อไป "ปล่อยวางเสียได้เป็นสุข" ถ้าปล่อยวางไม่เป็นแบกโลกทุกข์ตลอดกาล พระพุทธเจ้าตรัสว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น" เรายิ่งยึดมากเท่าไรก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น แบกมากเท่าไรก็หนักมากเท่านั้น แบกน้อยเท่าไรก็เบาน้อยเท่านั้น ไม่แบกเลยก็ไม่หนักเลย ยิ่งเราปล่อยวางได้มากเท่าไรยิ่งสุขมากเท่านั้น "สิ่งทั้งปวงควรหรือจะถือมั่น เพราะว่ามันก่อทุกข์มีสุขไฉน ยึดมั่นมากทุกข์มากลำบากใจ ปล่อยวางได้เป็นสุขทุกคืนวัน"
อีกข้อคือธรรมะเพื่ออยู่เป็นสุขในสังคม ต้องมีธรรมะอย่างน้อย 5 ข้อ คือ ขันติ เมตตา เสียสละ ให้อภัยและปล่อยวาง ถ้าเรามีคุณธรรม 5 อย่างนี้ก็จะพบแต่ความสุข "ขันติธรรมให้คุณค่ามหาศาล จิตเบิกบานด้วยเมตตาน่าเลื่อมใส เสียสละก็ทำได้ทั้งกายใจ พร้อมอภัยไม่ยึดถือคือปล่อยวาง" คนเราควรปล่อยวางเสียบ้าง
มีคำโคลงอีกบทหนึ่ง คือ "ขันติเมตตาไว้ชี้นำ เสียสละเป็นประจำ สุขแท้ ให้อภัยไม่กระทำโทษตอบ ใครนา ปล่อยวางทุกอย่างแม้เรื่องต้องหมองกมล"
No comments:
Post a Comment