Pineapple TH-PH

Done

Thursday, January 10, 2008

ครอบครัวแห่งความหวัง…ฝันที่เป็นจริง

น.พ.ยุทธนา ภาระนันท์. E-mail : yparanan@hotmail.com
ถ้าเปรียบครอบครัวเป็นดั่งกระจกหน้ารถ ขณะนี้กระจกนั้นเป็นอย่างไร ขุ่นมัว หรือ ใสแจ่ม
คมคิด : จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาจะไม่พรากจากทางนั้น

"ใครๆ ก็บอกว่าเด็กผู้หญิงเลี้ยงง่าย แต่นั่นไม่ใช่สำหรับลูกดิฉัน ดิฉันต้องตะโกนปลุกทุกเช้า ลากตัวมาอาบน้ำแต่งตัว ต้องป้อนข้าวให้ แทนที่จะรีบกินเร็วๆ กลับอมข้าวไว้อีก..." คุณแม่ยังสาวพูดถึงลูกสาววัย 6 ขวบด้วยน้ำเสียงละห้อย

การอบรมเลี้ยงดูไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ อย่างหลายคนเข้าใจ ยิ่งกว่านั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังย้ำถึงการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ของครอบครัว เพื่อพร้อมรับมือกับคลื่นกระแทกจากปัญหาสังคมได้อย่างทันกาล ถ้าเช่นนั้น การอบรมเลี้ยงดูของท่านสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและครอบครัวได้อย่างแข็งแรง พอแล้วหรือยัง

นักบริหารที่รักครอบครัว จะไม่เพียงหาโรงเรียนที่ดีเพื่อพัฒนาด้านวิชาความรู้แก่ลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถอบรมเลี้ยงดูด้วยความรัก (Unconditional love) เพื่อสร้างชีวิตแห่งปัญญา (Wisdom of life) ให้ลูกอีกด้วย

ความหวัง (Hope) เป็นทุนทางจิตวิทยา (Psychological capital) ที่ผู้บริหารสามารถนำมาประยุกต์ ให้เกิดการพัฒนาลูกและครอบครัวได้ด้วย 3 เหตุผล ได้แก่ 1) ทำให้เกิดการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน 2) กระตุ้นให้คิดค้นวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้น และ 3) สร้างแรงบันดาลใจแก่บุคคลให้ลงมือกระทำตามวิธีการดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการวาดฝันร่วมกันในครอบครัว ย่อมจะทำให้การอบรมเลี้ยงดูมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ท่านและครอบครัวมีสิ่งนี้มากน้อยเพียงใด

ชีวิตครอบครัวของท่านเป็นอย่างไรบ้าง

กรุณากาเครื่องหมายหน้าข้อที่เห็นว่าตรงกับตัวท่าน

_____ ฉันมองเห็นหลายอย่างในครอบครัวที่ควรจะเป็นระเบียบมากกว่านี้

_____ ช่วงปีที่ผ่านมา ฉันไม่ได้ให้เวลากับครอบครัวเท่าที่ควร

_____ เวลาลูกมีเรื่องไม่สบายใจ ลูกๆ ไม่ค่อยมาปรึกษาฉัน

ข้อเสนอแนะ : หากท่านได้กาเครื่องหมายในข้อใดข้อหนึ่ง อาจใช้ "ทักษะวาดฝันปั้นชีวิต" ช่วยได้

ทักษะวาดฝันปั้นชีวิต (Life Dreamer) ช่วยท่านได้

ทักษะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวได้ร่วมคิด ร่วมกันเสนอความต้องการ ความปรารถนาที่มีต่อลูก ต่อตนเอง ต่อกันและกัน ที่อยากจะเห็นกับครอบครัวในอนาคต อันเป็นการสร้างความหวัง (Hope) และเป็นเข็มทิศแก่สมาชิกครอบครัวทุกคน ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจในการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งอย่างเต็มที่และต่อ เนื่อง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังโมเดลและรายละเอียดต่อไปนี้

1.ตั้งคำถามเชิงอนาคต เป็นการถามเพื่อช่วยให้ทุกคนมองไปในอนาคตถึงสิ่งที่อยากเห็นในครอบครัวที่ เกี่ยวกับลูก พ่อแม่และครอบครัวโดยรวม เช่น

1.1 ปีใหม่นี้ พ่อแม่อยากให้ตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเลือกบางลักษณะจากตารางถัดไปนี้

ตาราง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ 7 ประการของบิดามารดาและผู้ปกครอง

คุณลักษณะ 7 ประการ รายละเอียด (โปรด?หัวข้อที่ท่านต้องการพัฒนา)

1. การให้ความรัก ?ให้ความสนใจ ?ให้กำลังใจ ?ยิ้มทักทาย ?กอดสัมผัสรัก

2. การรับผิดชอบ ?ซื้อของเล่นพัฒนาสมองให้ลูก ?จัดหาอุปกรณ์การเรียนได้ครบ

3. การให้เวลา ?มีเวลารับฟังเรื่องที่ลูกเล่า ?มีเวลาตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ ?มีเวลาให้คำปรึกษาเรื่องการเรียน การเล่นและการปรับตัว ?มีเวลาไปพักผ่อนร่วมกัน

4. การสื่อสาร ?พูดชื่นชมความสำเร็จของลูก ?พูดสุภาพ เชิงบวก ?พูดกับลูกอย่างจริงใจสื่อตรงกับความรู้สึก ?ฟังลูกก่อนและอธิบายให้ลูกเข้าใจ

5. การควบคุมอารมณ์ ?ยับยั้งชั่งใจก่อนจะโต้ตอบลูก ?ไม่หงุดหงิดง่าย ?พูดตอบอย่างใจเย็นและหนักแน่น

6. การเป็นแบบอย่าง ?ปฏิบัติตามกฎระเบียบครอบครัว ?ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ?ซื่อสัตย์รักษาคำพูด ?เป็นแบบอย่างในการกล่าวขอโทษ&ขอบคุณในชีวิตจริง

7. การมีสัมพันธภาพที่ดี ?มีจัดฉลองวันเกิดลูก ?ช่วยกันทำงานบ้าน ?ยอมรับความแตกต่างและรับมือกับข้อขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ ?มีความไว้วางใจต่อกัน

1.2 ปีใหม่นี้พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร เลือกบางลักษณะที่ท่านเห็นชอบ

มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รู้จักควบคุมอารมณ์ รู้ถูกรู้ผิด มีความใฝ่รู้ มีวินัย มีฉันทะวิริยะในการงาน สามารถปรับตัว รู้จักทำงานเป็นทีม รู้จักให้อภัย คิดเป็นทำเป็น ประหยัด ควบคุมตนเองได้

1.3 เมื่อปีก่อน เรารู้สึกประทับใจอะไรในครอบครัวบ้าง และจะนำมาทำอย่างไรต่อในปีนี้

1.4 เมื่อปีก่อน มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นบทเรียนแก่ครอบครัวเราที่ต้องระมัดระวังในปีนี้บ้าง

1.5 ปีใหม่นี้ แต่ละคนอยากเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ดีๆ อะไรบ้างในชีวิต

2.ระดมสมองและต่อยอด เป็นการสนับสนุนให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้พูดเสนอความคิดเห็นอื่นๆ ให้มากที่สุดนอกเหนือจากตารางข้างต้น โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์กันและกัน แต่หนุนกันด้านบวก ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นออกมา และให้มีการจดบันทึกไว้ ซึ่งจะช่วยต่อยอดความคิดของกันและกันได้ดียิ่งขึ้น

3.เลือกสรรและเริ่มต้น หลังจากได้ข้อเสนอต่างๆ แล้ว ก็ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้พิจารณากลั่นกรองเพื่อเลือกว่าข้อเสนอใดที่น่าจะ เป็นไปได้ และจะเริ่มดำเนินการอะไรก่อนอะไรหลัง อย่างไร เมื่อไร อันนำมาซึ่งการกำหนดกิจกรรมของครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว และการออกกฎระเบียบของครอบครัว ถ้าเป็นได้ เรื่องใดทำได้ก่อนให้รีบทำทันที เพื่อเป็นกำลังใจแก่กันและกันในครอบครัว ว่าร่วมกันวาดฝันแล้วสามารถปั้นชีวิตครอบครัวได้จริงๆ ด้วย

"ปีใหม่นี้ ท่านจะเปลี่ยนแปลงตนเองอะไรบ้าง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ครอบครัว"

No comments: