ธนภัทร คงศรีเจริญ tanapat@nationgroup.com
หากจะคาดการณ์อนาคต เราต้องย้อนไปศึกษาเรื่องราวในอดีต คำกล่าวนี้ใช้ได้ทุกยุคสมัย เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยน บทละครยังเหมือนเดิม ต่างแค่ตัวละคร เช่นเดียวกับความเป็นมาของคนบนผืนแผ่นดินไทยที่หากมองให้ทะลุ จะพบว่าเรามีความแตกต่าง และหลากหลายทางชาติพันธุ์แต่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาช้านาน
ปราชญ์กล่าวว่าหากเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รู้แนวคิด ความถูกผิดในอดีต จะทำให้เราทราบอนาคต
เรื่องราวในประวัติศาสตร์ทุกยุคสมัย เดินเรื่องบทเดียวกัน เปลี่ยนแค่หน้าตาผู้เล่น ซึ่งการจะเรียนรู้และตีความจากประวัติศาสตร์ อาจต้องอาศัยผู้รู้เข้ามาแนะแนวทาง หรืออาศัยการอ่านค้นคว้าศึกษาจากตำรา และต้องเป็นตำราจากหลายๆ แหล่งเพื่อหา "ค่ากลาง"
เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์มักเขียนโน้มเอียงค่อนไปทางชาติพันธุ์ของผู้บันทึก
ในกระแสความเปลี่ยนที่รวดเร็วของสังคม หลายคนพยายามย้อนกลับไปหาเรื่องราวในอดีต เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวและบอกให้โลกรับรู้ความยิ่งใหญ่ของชนชาติของตน อาจมาในรูปแบบของภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม รวมถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างแฟชั่น ก็เป็นการนำแนวคิดในอดีตมาประยุกต์ใหม่
ประวัติศาสตร์ จึงทำให้เรารู้ที่มาของตนเอง รับรู้ถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา เหมือนเช่นดินแดนสยามประเทศ ขวานทองด้ามนี้ที่กำเนิดมาด้วยความหลากหลาย แต่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาช้านาน
การยอมรับความแตกต่างของชาติพันธุ์ คือ ข้อดีที่คนยุคใหม่อย่างเรา ๆ น่าเอาเยี่ยงอย่าง
การที่คนบนผืนดินนี้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน รับและผสมผสานความเชื่อ วัฒนธรรมจากชนชาติอื่น ๆ เพราะมีการติดต่อกันระหว่างรัฐ นั่นเป็นวัตถุประสงค์ของการนำเสนอความรู้ทางประวัติศาสตร์ในหัวข้อ "จากสุวรรณภูมิ สู่สยามประเทศ ถึงประเทศไทย" ของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ หรือ Discovery Museum (กระทรวงพาณิชย์เดิม)
นี่คือปฐมบทของความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวในประวัติให้ ไม่น่าเบื่อ โดยการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดีย (Multi media) เข้ามาสร้างโลกเสมือนจริงให้ผู้เข้าชมงานได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเด็กๆ ให้ไม่น่าเบื่อ และ "ย่อย" เรื่องราวในอดีตได้ง่ายขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ที่จับต้องและถ่ายรูปได้
"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์" รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.) บอกว่า ในนิทรรศการดังกล่าวมีจำนวน 15 ห้อง เริ่มตั้งแต่ห้องแรก Thai People Immersive Theater เป็นเหมือนห้องเริ่มต้นที่กระตุ้นความคิดของผู้เข้าชม โดยมีตัวละคร 7 คน ต่างยุคต่างเชื้อชาติออกมาเล่าเรื่องราวในอดีต ซึ่งตัวละครเหล่านี้จะกระจายไปทำหน้าที่ตามห้องนิทรรศการต่างๆ
ถัดมาเป็นห้อง เปิดตำนานสุวรรณภูมิ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีอารยธรรมโบราณมาช้านานหลายพันปี ก่อนจะมาเป็นสุวรรณภูมิ ห้องที่ 3 สุวรรณภูมิ นำเสนอเรื่องราวของการเกษตรกรรม การสร้างเมือง กำเนิดชุมชนการค้าจากการติดต่อค้าขาย ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผี พราหมณ์ และศาสนาพุทธ
ห้องพุทธศาสนา และห้องกำเนิดกรุงศรี ถูกจัดแสดงแบบ Multi media เพื่อให้เห็นรัฐต่าง ๆ ก่อนกำเนิดเป็นสยามประเทศ ทั้งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีกับเมืองอื่น ๆ ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานว่าสยามประเทศเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์
สยามประเทศ มีการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่งดงามยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระราชสัญลักษณ์แห่งสมมติเทวราชของกรุงศรีอยุธยา
สยามยุทธ์ ห้องที่จัดแสดงถึงยุทธวิธีป้องกันตัวเองของกรุงศรีอยุธยาและตำราพิชัยสงคราม ห้องที่ 8 แผนที่,ความยอกย้อนบนกระดาษ เป็นยุคที่ไทยต้องเสียแผ่นดินบางส่วน เพื่อรักษาขวานทองไว้
กรุงเทพใต้ฉากอยุธยา แสดงให้เห็นถึงความคิดที่สร้างกรุงเทพฯ ให้เหมือนกรุงศรีอยุธยา ทำให้บ้านเมืองและผู้คนต่างยึดติดอยู่กับต้นแบบกรุงศรีอยุธยา
สัมผัส ชีวิตนอกกรุงเทพ เรื่องราวของชีวิตในท้องทุ่งบนวิถีชีวิตแบบเกษตรกร ก่อนจะแปลงโฉมสยามประเทศให้เห็นภายใต้อิทธิพลของตะวันตก จากคลองสู่ถนน จากเรือสู่รถไฟ
การนำเสนอถึง กำเนิดประเทศไทย ยุคเปลี่ยนผ่านจาก "สยาม" กลายเป็น "ไทย" ในปัจจุบัน พร้อมสัมผัสถึง สีสันตะวันตก ท่ามกลางภาวะสงครามเย็นและการเลือกสังกัดค่ายโลกเสรี ส่งผลให้ประเทศไทยขณะนั้นอ้าแขนรับวัฒนธรรมตะวันตกอีกครั้ง ก่อนจะถึงยุคของ เมืองไทยวันนี้
และก็มาถึงบทสรุปสุดท้ายกับ ห้องมองไปข้างหน้า พื้นที่สะท้อนเรื่องราวที่ชวนให้คิดและตระหนักว่า อนาคตประเทศไทยในมือของคนรุ่นปัจจุบันจะเดินไปในทิศทางไหน
"เราต้องการให้ผู้เข้าชม มาดูแล้วตั้งคำถาม จากนั้นกลับไปค้นหาคำตอบ จึงอยากให้มาดูกัน แล้ววิเคราะห์ให้ลึกว่าการผลิตอะไรสักอย่าง คนโบราณมีแนวคิดอย่างไร ใช้ภูมิปัญญาอะไรในการคิดงาน โดยทุก 3-6 เดือนจะมีการเปลี่ยนนิทรรศการ เช่น หากจะทำนิทรรศการเรื่องผ้า ต้องการนำผ้าไทยจากทั่วทุกภาค ในยุคสมัยต่างๆ มาแสดง เราก็ต้องอาศัยพิพิธภัณฑ์เครือข่ายในต่างจังหวัด และความร่วมมือจากผู้สะสมของเก่าทั่วประเทศ"
ดร.สุรพล บอกอีกว่า สรส.ต้องการให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จในแง่ผู้เข้าชม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา และชาวต่างชาติ และต้องการให้เป็นพิพิธภัณฑ์ต้นแบบ ที่จะขยายไปในต่างจังหวัด โดยปัจจุบัน สรส.มีพิพิธภัณฑ์ในเครือข่ายกว่า 700 แห่ง พร้อมทั้งเป้าหมายการขยายเครือข่ายให้ได้ 2,000 แห่งในอนาคต
สิ่งที่บอกว่าเราเป็นไทยไม่ได้อยู่ที่ชาติพันธุ์ แต่เป็นวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงตั้งใจสะท้อนถึงคนรุ่นใหม่ให้ได้เห็นและคิดต่อ...
No comments:
Post a Comment