คอลัมน์ BOOK IS CAPITAl
หากเหลียวดูเศรษฐกิจโลกยามนี้แล้ว ต้องบอกว่าน่าตื่นตะลึงไม่น้อย ปัญหาซับไพรมกำลังกลายเป็นวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์" อันมีศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา กำลังแผ่ลามออกไปทั่วโลก
สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นตกกันระเนระนาดอย่าง ไม่เคยเป็นมาก่อน
ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า โลกนี้ยังมีอนาคตอยู่หรือเปล่า ?
เมื่อพลิกอ่านหนังสือของ "ไมเคิล ไรต์" ชื่อว่า "โลกนี้มีอนาคตหรือ ?" พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อย่างเช่น จากสังคมประเพณีสู่โลกหลัง สมัยใหม่ โฉมหน้าโลกหลังสังคมนิยม กำลังเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบันยุคหลังคอมมิวนิสต์ กำลังเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบันหลังทุนนิยม หลังประชาธิปไตย เรากำลังไปไหน ?
ทั้งนี้ในมูลเหตุหนึ่งที่กำลังสั่นคลอนโลกอย่างสงครามก่อการร้าย ปัญหาสหรัฐ-อิรัก มีแง่มุมให้น่าคิดว่า ปัญหาตะวันออกกลางกับตะวันตกไม่ใช่เรื่องศาสนา และไม่ได้เกิดจากความมุ่งร้ายของมุสลิมฝ่ายเดียว
ในทางตรงกันข้าม ปัญหาเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของการแย่งชิงน้ำมันดิบ และประเทศมหาอำนาจตะวันตกต่างหากได้ก่อเรื่องขึ้นมาเอง ด้วยการเล่นพิเรนทร์ตลบตะแลงกับตะวันออกตลอดมาเกือบร้อยปี
ไมเคิล ไรต์ สรุปไว้อย่างน่าคิดว่า การที่สหรัฐทำสงครามกับอิรัก (โดยผิดกติกาสหประชาชาติ) ประกอบด้วยบรรดาซีอีโอของบรรษัทผู้ค้าน้ำมันและยุทโธปกรณ์ที่ซื้ออำนาจรัฐมา จึงจะนับเป็นประชาธิปไตยมิได้
ในทศวรรษ 1930 มุสโสลินี เผด็จการฟาสซิสม์ของอิตาลี ได้นิยามคำว่า "ฟาสซิสม์" ว่าการประกอบเป็นองค์เดียว เป็นการผนึกผสม พลังของรัฐกับพลังของบรรษัท
เป็นไปได้ไหมว่า ในยุคหลังสังคม ทุนนิยม และประชาธิปไตยนี้ โลกทั้งโลกกำลังแห่ไปสู่ลัทธิฟาสซิสม์ใหม่ (neo-fascism) สมบูรณ์แบบ
บรรษัทซื้ออำนาจรัฐ รัฐจึงหมดศักดิ์ศรีไม่สามารถป้องกันผลประโยชน์ของประชาชน
ประชาชนจึงกลายเป็นทาสของบริษัทโดยอัตโนมัติ
"เป็นไปได้ไหมว่า "โลกาภิวัตน์" (globalization) คือ ลัทธิฟาสซิสม์ใหม่ (neo- fascism) ในคราบแปลกปลอม ?"
นั่นคือสิ่งที่ ไมเคิล ไรต์ ตั้งเป็นประเด็นไว้ ให้คิด
แล้วประเทศไทยกำลังเดินไปตามเส้นทาง สายนี้หรือไม่ ก็ต้องประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วไปคิดวิเคราะห์กันเอาเอง
No comments:
Post a Comment