Pineapple TH-PH

Done

Tuesday, January 15, 2008

ตามหาคุณธรรม

10 มกราคม พ.ศ. 2551 11:11:00

สิ่งมีชีวิตร่วมโลกใบนี้ คงมีแค่มนุษย์ที่มีความบ้าอยู่ในตัว ไม่นับหมาบ้าที่เป็นบ้าเพราะเชื้อไวรัสขึ้นสมอง ถ้าอย่างนั้นความบ้าของมนุษย์มาจากไหน บางครั้งมนุษย์ยอมฟังเสียงภูตร้ายมากกว่าภูตดี -ฝ่ายข่าววิทยาศาสตร์- เรียบเรียงจากนิตยสารไทม์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าจะเรียกได้ว่า "ประเสริฐสุด" เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี "เมตตา" เหลือล้น รู้จักดูแลอุ้มชู ให้ความรักผู้อื่น เสียน้ำตาให้ผู้อื่น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ มนุษย์ก็ยอมเสียสละอวัยวะของตัวเองให้ผู้อื่นเพื่อรักษาชีวิตคนใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน มนุษย์กลับลงมือสังหารกันและกันอย่างโหดเหี้ยม ช่วงเวลา 15 ปีแห่งประวัติศาสตร์ มนุษย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวเทียบได้แค่อนุภาคย่อยของอะตอมที่ถูกสร้างขึ้นด้วย เครื่องเร่งอนุภาคและหายไปในส่วนล้านล้านวินาที

แต่เวลาชั่วครู่นี้มนุษย์ฆ่ากันเองอย่างโหดร้าย ไม่ว่าจะในเมืองโมกาดิชู, รวันดา, เชชเนีย, ดาฟรู, เบสลัน, บังกลาเทศ, ปากีสถาน, ลอนดอน, มาดริด, เลบานอน, อิสราเอล, นิวยอร์ก ซิตี้, อาบู กราอิบ, โอกลาโฮมา ซิตี้ จนถึงหอพักนักศึกษาในเพนซิลเวเนีย

อาชญากรรมที่เกิดขึ้นยังสถานที่เหล่านั้นเป็นผลงานของสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่ สุด และประเสริฐสุดที่โลกให้กำเนิดขึ้นมา ผลงานเหล่านั้นแสดงให้เห็นเช่นกันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำช้าที่สุด โง่เขลาที่สุด และกระหายเลือดอย่างน่าละอายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก

ยิ่งวิทยาศาสตร์ล้วงลึกเข้าไปศึกษาเบื้องลึกของพฤติกรรมของมนุษย์มากเท่าไร มนุษย์ยิ่งภาคภูมิกับความเป็นสัตว์ประเสริฐได้น้อยลงเท่านั้น เราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่มีภาษาพูด เราพร่ำบอกกับตัวเองอยู่เสมอ

จนกระทั่งวันหนึ่งมารู้ว่า กอริลลา และชิมแปนซี ญาติที่ใกล้เคียงที่สุดของมนุษย์รู้จักใช้ภาษาท่าทางเหมือนกัน เราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่รู้จักใช้เครื่องมือ ถ้าไม่นับตัวนากที่รู้จักเอาหินมาทุบหอย หรือลิงที่รูดใบไม้ออกจากกิ่งเอาไปล่อปลวก

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ชนิดอื่นคือ มนุษย์มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิด สิ่งดีสิ่งเลวได้ รู้ดีว่าความเจ็บปวดเป็นอย่างไร ไม่เท่านั้นยังรับรู้ความเจ็บปวดของคนอื่นด้วย ซึ่งนับเป็นแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะเหตุใดมนุษย์ถึงละทิ้งแก่นแท้นี้ไปได้

จริยธรรมอาจเป็นแนวคิดที่เป็นนามธรรมเอามาก แต่มนุษย์เรียนรู้เรื่องนี้ได้เร็ว ยกตัวอย่าง นักเรียนอนุบาลเรียนรู้ว่ากินขนมในห้องเรียนเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะครูห้าม แต่ถ้ากฎข้อนี้ถูกยกเลิก และอนุญาตให้นักเรียนกินขนมในห้องเรียนได้ เด็กนักเรียนยินดีทำตามโดยไม่ต้องคะยั้นคะยอ

แต่ถ้าครูคนเดิมบอกว่า เอาละ ใครผลักเพื่อนตกเก้าอี้ไม่โดนทำโทษ นักเรียนจะคิดได้เองว่าไม่ควรทำแล้วบอกว่า "ไม่ได้ ครูพูดอย่างนั้นไม่ถูก"

มิเชล ชูลแมน นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ Bringing Up a Moral Child กล่าว ทั้งสองกรณี ครูคนเดียวกันสอนนักเรียนให้รู้จักกฎ แต่กฎที่อนุญาตให้ผลักเพื่อนได้เป็นกฎที่ไม่มีใครอยากทำตาม นักเรียนจะฝืนคำสั่งโดยอัตโนมัติ แม้ครูอนุญาตให้ทำได้ก็ตาม

ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นความแตกต่างกันระหว่างเรื่องจริยธรรมกับจารีตของ สังคม ทั้งตัวชูลแมนเองและคนอื่นเชื่อเหมือนกันว่า เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดีโดยไม่ต้องมีใครสอน

แน่นอนว่า บางครั้งเด็กเล่นเกเรทะเลาะวิวาทกัน และไม่รู้สึกว่าตัวเองทำผิด ถ้าไม่ถูกจับได้ พวกที่ขโมยของหรือเผด็จการสังหารโหดก็เหมือนกัน

มาร์ซ เฮาเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า "มนุษย์มีเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่ามนุษย์ประพฤติตามกรอบจริยธรรมกันทุกคน" หรืออย่างน้อยมนุษย์รู้โดยสัญชาตญาณว่ากฎระเบียบต้องปฏิบัติตาม

แล้วสัญชาตญาณที่ว่ามาจากไหน ทำไมแต่ละคนถึงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ให้เราเดินแตกต่างกันไป วิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำตอบให้ตอนนี้ แต่พวกนักวิทยาศาสตร์คอยมองหาคำตอบอยู่ไม่หยุดนิ่ง

พวกเขาทดสอบสแกนสมองมนุษย์เพื่อหาเบาะแส บางกลุ่มศึกษาพฤติกรรมสัตว์จนได้ข้อมูลเพิ่มเติม บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ออกภาคสนามไปติดตามดูพฤติกรรมของชนเผ่าได้ข้อมูล เพิ่มเติมมาอีก

ถึงกระนั้น งานวิจัยเหล่านี้ยังไม่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ได้ดีขึ้นสักเท่าไร แต่งานวิจัยทั้งหมดอาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง บางทีอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยให้เราก้าวพ้นจากพฤติกรรมป่าเถื่อน แต่เป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง

ถึงเป็นลิงก็มีจริยธรรม

พื้นฐานศีลธรรมของมนุษย์ยืนอยู่บนความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น เข้าใจว่าถ้าเราเจ็บ คนอื่นก็รู้สึกเจ็บเหมือนกัน ตัวตนของมนุษย์จะไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น

สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนน้อยกว่าเราสามารถแสดงพฤติกรรมโอบอ้อมอารีได้เหมือน กัน แต่นักพฤติกรรมศาสตร์มักลดทอนคุณธรรมที่เราเรียกว่า ความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ลงมาเป็นเพียงธุรกิจต่างตอบแทน หรือการไม่เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่า ใครสักคนทำดีเพื่อหวังผล ไม่ว่าจะให้อาหาร หรือที่พักพิง และถ้าประชาคมสัตว์ปฏิบัติตามหลัก "ให้และรับ" สังคมจะเจริญงอกงาม

แม้แต่ในกลุ่มสัตว์เอง พวกมันมีศีลธรรมที่สูงกว่าพื้นฐาน นาเดีย โคห์ต นักสัตววิทยากลุ่มไพรเมทชาวรัสเซีย เป็นคนแรกที่ศึกษาระบบการจดจำของสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ไว้เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20

เธอเลี้ยงลิงชิมแปนซีไว้ในบ้านเธอเอง ตอนเจ้าชิมแปนซีไต่ขึ้นไปถึงหลังคา เธอพยายามหาสารพัดวิธีเพื่อล่อให้มันลงมาแต่ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะร้องเรียก ดุว่า เอาอาหารล่อ แต่พอโคห์ตลองแกล้งนั่งร้องไห้ ผลปรากฏว่ามันลงมาหาเธอทันที

"เขาวิ่งวนรอบตัวฉันเหมือนจะมองหาคนที่ทำให้ฉันร้องไห้ แล้วเอามือมาจับคางฉันให้เกยอยู่บนฝ่ามือของเขาเหมือนพยายามเข้าใจให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น" โคห์ต บรรยายไว้ในหนังสือของเธอ

คงไม่ต้องย้อนไปไกลถึง 50 ปีเพื่อหาตัวอย่างที่น่าประทับใจอย่างนั้น เมื่อปี 2539 นี่เอง เจ้าลิงกอริลลานาม บินตาชูอา ช่วยเด็ก 3 ขวบที่ล้มตกลงไปในกรงของมัน มันปรี่เข้าไปอุ้มอย่างทะนุถนอมมาที่ประตูที่ครูฝึกสามารถเข้าไปและรับตัว เด็ก

"ความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นมีอยู่หลายระดับ" ฟรานส์ เด วาล จากมหาวิทยาลัยอีโมรี ผู้เขียนเรื่อง Our Inner Ape บอก "เรามีแก่นแท้ร่วมกับสัตว์หลายชนิด"

ถึงเป็นไปไม่ได้ที่จะวัดความสามารถรับรู้ความรู้สึกผู้อื่นของสัตว์ แต่เราวัดกับมนุษย์ได้ เฮาเซอร์อ้างถึงรายงานเรื่องหนึ่งที่ให้คู่สมรส หรือคู่ครองที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่แต่งงาน เข้าเครื่องสแกนการทำงานของสมองขณะถูกช็อตให้รู้สึกเจ็บเบาๆ

นักวิจัยจะบอกพวกเขาก่อนกระตุ้นให้เจ็บ เพียงแค่รู้ว่าจะถูกทำให้เจ็บ สมองเริ่มแสดงปฏิกิริยาส่งสัญญาณหวาดกลัวเล็กน้อยให้เห็นทันที 

ต่อมาอาสาสมัครที่เข้าทดสอบบอกว่า ตัวเขาเองไม่ได้กลัวเจ็บ แต่กลัวว่าคนรักของพวกเขาเจ็บมากกว่า ทั้งที่ไม่เห็นต่อหน้าต่อตาว่าคนรักจะถูกทำให้เจ็บ แต่สมองของผู้เข้าทดสอบส่งสัญญาณบอกอย่างชัดเจนราวกับว่าตัวพวกเขากำลังเจอ กับการทดสอบที่เจ็บปวดด้วยตัวเอง

เฮาเซอร์ บอกว่านี่เป็นตัวอย่างของประสบการณ์รับรู้ความเจ็บปวดของคนอื่นอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สมองต้องทำงานหนักมากขึ้นเมื่อเผชิญกับเรื่องคุกคามที่ซับซ้อนขึ้น แบบจำลองที่นักวิจัยชอบนำมาใช้กันคือ สถานการณ์วัดใจคุณธรรมที่เรียกว่า trolley dilemma

เรื่องมีอยู่ว่า ถ้าคุณยืนอยู่ใกล้กับรางรถไฟแล้วมีรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งตะบึงมาหาคนที่ยืนอยู่ 5 คนโดยไม่รู้ว่ามัจจุราชกำลังเข้ามาใกล้ ตรงที่คุณยืนมีตัวสับรางที่คุณสามารถสับรางรถไฟให้วิ่งไปอีกทางได้ คุณจะสับรางหรือไม่

แน่นอนว่า คุณยินดีสับรางโดยไม่รีรอเพราะได้ช่วยชีวิตคนโดยไม่เสียอะไร แต่ถ้ารางที่สับไปอีกทางมีคนบริสุทธิ์ยืนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ คุณจะยอมแลกชีวิตคนหนึ่งเพื่อช่วยอีก 5 ชีวิตหรือไม่ ถึงตอนนี้คะแนนคุณธรรมของคุณจะอยู่ที่ 5 ต่อ 1

ส่วนอีกสถานการณ์หนึ่งตั้งโจทย์คล้ายกันว่า มีรถไฟวิ่งมาจะชนคน 5 คนที่ยืนไม่รู้เรื่อง แล้วตัวคุณอยู่บนสะพานคร่อมรางรถไฟอยู่ มีชายอีกคนหนึ่งยืนอยู่ใกล้ คุณจะผลักผู้ชายคนนั้นให้ตกลงไปบนรางเพื่อสกัดรถไฟให้หยุดจะได้ช่วยชีวิตคน อีก 5 คนหรือไม่

เมื่อตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมทดสอบที่ต่อสายสัญญาณวัดการทำงานของสมองพบว่า ในสถานการณ์สับรางรถไฟโดยไม่มีคนอื่นอยู่บนรางอีกด้าน พบว่าเปลือกสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า dorsolateral prefrontal cortex ซึ่งใช้ตัดสินใจเรื่องไม่ซับซ้อนแสดงสัญญาณทำงาน

พอมาถึงคำถามที่ซับซ้อนขึ้นว่า เมื่อสับรางไปแล้วมีคนบริสุทธิ์คอยรับกรรมแทน พบว่าเปลือกสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า medial frontal cortex เป็นพื้นที่สมองที่ทำงานสัมพันธ์กับอารมณ์สว่างวาบขึ้นทันที

ระหว่างที่สมองทั้งสองส่วนโต้เถียงกันอยู่ มนุษย์อาจตัดสินใจโดยปราศจากเหตุผลได้ จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่า 85% ของผู้ร่วมทดสอบที่ถูกถามให้เลือกผลักคนตกรางหยุดรถไฟตอบว่า พวกเขาไม่ยอมผลักคนบริสุทธิ์เพื่อแก้สถานการณ์ ทั้งที่รู้ว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะช่วยชีวิต 5 คนที่รอชะตากรรมอยู่ได้

โจชูอา กรีน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงกับสงสัยว่า เกิดผิดปกติอะไรกับคนเหล่านี้ ทำไมพวกเขาถึงคิดว่า หนึ่งชีวิตแลกกับห้าชีวิตได้

ดีชั่วอยู่ที่ตัวเรา

การทดสอบตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะตั้งโปรแกรมให้คนมีพฤติกรรม เป็นคนดีขึ้นมาได้ บางครั้งจำต้องอาศัยซอฟต์แวร์และตั้งค่าให้เหมาะสมเพื่อสั่งให้มนุษย์ ปฏิบัติตัวดี เครื่องมือที่สำคัญคือ ชุมชน

เฮาเซอร์เชื่อว่า คนเราทุกคนมีสำนึกด้านศีลธรรมอยู่ในตัว เหมือนกับความสามารถจดจำคำพูดที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด แต่คุณสมบัติดังกล่าวจะไม่ปรากฏขึ้นถ้าไม่มีใครสอนให้พูด เช่นเดียวกัน สำนึกดีชั่วของคนไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าไม่มีใครสอนว่าควรใช้มันอย่างไร

ผู้คนที่อยู่รอบตัวเรานี่เองที่คอยสั่งสอน แต่ก็อีก มนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลกที่ซึมซาบการสั่งสอน

ในเนเธอร์แลนด์มีสวนสัตว์แห่งหนึ่งชื่อ อาร์นเฮ็ม ในหนังสือ Our Inner Ape เด วาล เล่าว่า ทุกเย็นเจ้าหน้าที่ดูแลกรงลิงจะเรียกให้ชิมแปนซีทุกตัวมารับอาหาร

กฎของสวนสัตว์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้คือ ลิงทุกตัวต้องมาพร้อมหน้ากันหมดถึงจะเริ่มให้อาหาร แต่มีลิงหนุ่มอยู่สองตัวที่ซ่ากว่าเพื่อน เตร่ออกมานอกอาคารเลี้ยง จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาหลอกล่ออยู่นานหลายชั่วโมง

เวลายิ่งผ่านไปเท่าไร ยิ่งทำให้ลิงในกลุ่มที่รอท้องกิ่วไม่พอใจ คืนนั้นเจ้าหน้าที่ดูแลสวนสัตว์ต้องเอาเจ้าทโมนแยกขังป้องกันไม่ให้ถูกกลุ่ม ของมันประชาทัณฑ์

วันต่อมาเจ้าลิงจอมแสบถูกปล่อยเป็นอิสระ แต่ถูกเพื่อนลิงด้วยกันบอยคอต ปรากฏว่าเย็นวันนั้นลิงจอมเกเรมารอรับอาหารเป็นตัวแรก เด วาล อธิบายว่า สัตว์มีกฎระเบียบของกลุ่มที่สมาชิกในฝูง "ควร" ปฏิบัติตาม และฝูงจะเป็นผู้บังคับใช้

สังคมมนุษย์มีกฎระเบียบปฏิบัติในชุมชน อะไร "ควร" อะไร "ไม่ควร" เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามแต่วัฒนธรรม ยกตัวอย่าง คำสอนเรื่องจงเป็นเพื่อนบ้านที่ดี หรือ Good Samaritan ที่สอนให้คนคอยช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความลำบาก

มนุษย์มีความขัดแย้งในตัวเองว่าเมื่อไร "ควร" เมื่อไรไม่ควรช่วยผู้อื่น กฎเกณฑ์ทั่วไปคือ ช่วยคนที่อยู่ใกล้บ้านเรามากที่สุด และเมินเฉยบ้านที่อยู่ห่างออกไปไกล ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้าเป็น "ของจริง" มากกว่าสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นด้วยสายตา หรือแค่ได้ยินได้ฟังมาแค่นั้น

ทั้งที่มีระบบศีลธรรมอยู่มากมาย แล้วทำไมมนุษย์ถึงชอบเดินออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ บางคนห้ามตัวเราเองทำชั่วไม่ได้เพราะเป็นโรคจิต หรือมีพฤติกรรมที่ใช้เหตุผลตรึกตรองไม่เป็น

ด้วยเหตุนี้ ศาลอาญาถึงเว้นโทษให้แก่จำเลยที่มีความผิดปกติทางจิต เพราะไม่รู้ว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งเลวร้าย ต่างจากฆาตกรฆ่าต่อเนื่องที่รู้ว่าการกระทำของตนผิดกฎหมายแต่ยังลงมือกระทำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2391 นักจิตวิทยาจดจำเรื่องราวของฟีเนส เกจ คนงานทางรถไฟเมืองเวอร์มองต์ได้ดี เขาประสบอุบัติเหตุจากระเบิดทำให้เหล็กปลิวมาปะทะหน้าผากยุบจนสมองส่วนหน้า เสียหายแต่ดวงแข็งยังรอดชีวิตมาได้

ต่อมาพฤติกรรมของเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ยังดีที่ไม่เคยก่ออาชญากรรม สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกจทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาต้นตอของการฆาตกรรมต่อ เนื่องโดยดูจากสภาพของสมอง

งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร NeuroImage สองปีก่อนอาจคลี่คลายปมบางอย่าง ทีมวิจัยร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐสแกนสมองของอาสาสมัครสุขภาพปกติ 20 ราย โดยเฝ้าดูพฤติกรรมของพวกเขาขณะที่เจอกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ผลปรากฏว่า สมองของพวกเขามีกิจกรรมขึ้นลงอย่างฉับพลันคล้ายกับอยู่ในสถานการณ์ก่อ อาชญากรรม ช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมชั่วกับการลงโทษ

โชคยังดีที่มนุษย์ส่วนใหญ่ปรารถนาเดินอยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ห่างไกลหลายขุมจากพฤติกรรมของฆาตกรต่อเนื่อง แต่มนุษย์ยังชอบเดินออกนอกเส้นทางในเรื่องเล็กน้อย เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่การทำดีต่อครอบครัว ต่อเพื่อนฝูงที่ทำงาน แต่เป็นการตัดสินใจที่เรามีต่อคนอื่นที่อยู่นอกกลุ่มนอกเหล่าของพวกเรา

มนุษย์พร้อมจะปฏิบัติกับคนนอกกลุ่มอย่างทัดเทียมกับฝูงของพวกเขาหรือยัง

โต๊ะข่าววิทยาศาสตร์ รายงาน

No comments: